ส่องทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ กรุงไทยชี้อาจแข็งค่า 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่สัปดาห์นี้บาทจะเคลื่อนไหวอย่างไร?

วันนี้เงินบาทอ่อนค่า 30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกรุงไทย บอกว่า วันนี้ (8 ก.ค. 2562) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 30.75 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิด 5 ก.ค. 2562 ที่อยู่ระดับ 30.65 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุหลักเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังตลาดทุนปิดรับความเสี่ยง และผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) ปรับตัวขึ้นเพราะตัวเลขด้านแรงงานที่ปรับตัวดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีโอกาศอ่อนค่าขึ้นได้อีกเล็กน้อย เมื่อ Bond Yield ระยะสั้นของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ เช่น Bond Yield อายุ 2 ปี อยู่ที่ 1.8% แสดงว่าตลาดยังคาดหวังให้ธนาคารกลางสหรัฐ​ (FED) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า นึงต้องจับตาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตามมองว่ากรอบค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 30.70 – 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ โดยค่าเงินบาทอาจเจอกับแรงขายของผู้ส่งออกเมื่อราคาปรับตัวสูงถึง 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ (8-12 ก.ค.) อยู่ที่ 30.40 – 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยที่ต้องจับตาและกระทบค่าเงินบาทในระยะต่อไป

ภายในสัปดาห์นี้เศรษฐกิจโลกมีเรื่องที่ต้องจับตามอง ได้แก่

  • ฝั่งสหรัฐฯ วันอังคารนี้จะมีตัวเลขยอดตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ (JOTLs Job Openings) เดือนพ.ค. คาดว่าอยู่ที่ 7.4 ล้านตำแหน่ง ถือว่าในสหรัฐฯยังมีความต้องการแรงงานในระดับสูง
    อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนมิ.ย. มีแนวโน้มชะลอตัวลงแตะระดับ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยราคาสินค้าพลังงานลดลง
    และต้องติดตามรายงานการประชุม FED (FOMC Meeting Minutes) ที่ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จะหนุนโอกาสการลดดอกเบี้ยเฟดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
  • ฝั่งเอเชีย ในวันอังคารมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) คาดว่ามีมติ “ลด” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) 0.25% สู่ระดับ 3.00% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังภาคการส่งออกซบเซาจากผลกระทบของสงครามการค้าและเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งยอดส่งออกของจีนมีโอกาสหดตัวลง 0.8%
  • ฝั่งยุโรป วันจันทร์นี้มีรายงานผลผลิตอุตสาหกรรมเยอรมนี (Industrial Production) เดือน พ.ค. คาดว่าจะหดตัวกว่า 2.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องไปกับยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) ที่หดตัวถึง 8.6% ชี้ว่าปัญหาสำคัญของยูโรโซน คือภาคการผลิตที่ซบเซาเรื้อรังจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
    ทั้งนี้ตลาดอาจจับตาไปที่รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ที่อาจจะส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา