เงินบาทแข็งค่าขึ้นอันดับ 1 ในภูมิภาคแซงหน้าเพื่อนบ้านทั้งเอเชีย

เงินบาทสำหรับคนที่ต้องซื้อ-ขายสินค้ากับต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าขายของส่งออกไปต่างประเทศ แล้วค่าเงินบาทเกิดแข็งค่าขึ้นมา เงินค่าสินค้าที่ได้มาเท่าเดิม แต่เราจะแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

สำหรับรายย่อยอย่างเรา ถ้าไปเที่ยวแล้วเงินบาทอ่อนค่า เราต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อแลกเงินสกุลต่างประเทศ แต่ถ้าบาทแข็งค่าเราก็แลกเงินสกุลต่างประเทศได้มากขึ้น

เงินบาทแข็งค่าที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2019 แซงทุกประเทศในภูมิภาค

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ในสัปดาห์นี้ (21-25 ม.ค.) ทาง ธนาคารมองว่าค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50 ถึง 31.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวันที่ 18 ม.ค. ค่าบาทอยู่ที่ 31.70 ต่อดอลลาร์สหรัฐถือว่าแข็งค่าที่สุดในรอบ 8 เดือน สาเหตุเพราะนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทยสุทธิ 9,000 ล้านบาทและขายพันธบัตรเล็กน้อยที่ 59 ล้านบาท

ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลกับการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทคือ เงินดอลลาร์สหรัฐที่ค่าเงินยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ โดยแข็งค่าขึ้นหลังจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้น เลยเห็นนักลงทุนเทขายทำกำไรในสกุลเงินอื่นๆ

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตามองเรื่องค่าเงิน ได้แก่ สกุลเงินยูโร เงินปอนด์ รวมถึงตลาดสนใจประเด็น Trade War ที่ล่าสุดจีนพยายามนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อลดยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก Brexit (การที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป) การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ การเปลี่ยนหน่วยงานราชการบางแห่งของสหรัฐ (shutdown)

ส่วนปัจจัยในประเทศ ยังต้องจับตามองตัวเลขทางเศรษฐกิจตั้งแต่การส่งออก-นำเข้าของไทย  โดยภาพรวมคาดว่า สัปดาห์นี้การซื้อขายค่าเงินบาทจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว และแข็งค่ามากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินภูมิภาคนับจากต้นปี

ข้อมูลจากไตรมาส 3 ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธปท.ย้ำเงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาค แต่ผู้ส่งออกต้องประกันความเสี่ยง

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเพราะสถานการณ์การเมืองในประเทศสหรัฐ ความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้กระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนทั่วโลก

ดังนั้นหลังจากนี้ความเสี่ยง และความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศยังสูงมาก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงของค่าเงิน เช่น การทำประกันความเสี่ยง อย่าง  forward และ option, การฝากเงินเข้าบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD), หรือการเลือกกำหนดราคาสินค้า (invoice) ในสกุลเงินท้องถิ่นแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

แต่ช่วงค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลดีกับผู้ประกอบการไทยที่สามารถนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่ม productivity ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยมีอำนาจในการกำหนดราคา (pricing power) ได้ดีขึ้น

สรุป

ข้อมูลจากเอกชนบอกว่าค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค เมื่อเทียบจากต้นปี 2562 แต่แบงก์ชาติให้ข้อมูลว่าเทียบจากปลายไตรมาส 3 ปี 2561 ทำให้ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวตามภูมิภาค แม้ข้อมูลจะต่างกัน แต่ผู้ประกอบการที่ส่งออกนำเข้าควรต้องทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ก่อน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา