2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ กระทบคนที่ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศทำให้แลกเงินต่างประเทศกลับเป็นเงินบาทได้น้อยลง แล้วค่าเงินบาทหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?
ปี 2019 ค่าเงินบาทผันผวนจับตา Trade War-เงินทุนเคลื่อนย้าย
TMB Analytics มองว่าปี 2019 นี้ค่าเงินบาทจะผันผวนเพิ่มขึ้นจากปี 2018 ที่ผ่านมา เพราะได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า (Trade War) ที่กระทบทั้งดุลการค้าระหว่างประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจมีเงินใช้จ่ายน้อยลง นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วกระทบกับการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
ล่าสุดค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2018 ที่เงินบาทแข็งค่าระดับสูงสุดที่ 33.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยระยะยาวที่ส่งผลกระทบกับค่าเงินบาทคือดุลการค้าและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนปัจจัยระยะสั้นคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“คงปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นปัจจัยที่สามารถกระทบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะสั้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่สถานะด้านต่างประเทศของไทยแข็งแกร่งโดยมีบัญชีเดินสะพัดสุทธิเกินดุลรวมกว่า 3.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018”
อย่างไรก็ตามการที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูงที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ และดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติที่สูงขึ้น (ปรับขึ้นเป็ 1.75% ตั้งแต่ปลายปี 2018) อาจดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้าตลาดการเงินไทยกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
TMB Analytics คาดธปท.คงดอกเบี้ย 1.75% ไปอีกครึ่งปี
TMB Analytics คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% ไปอีกอย่างน้อยครึ่งปี เพราะรอสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และรอประเมินผลทางเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้ง
ล่าสุดที่ผ่านมา
“หากพิจารณาช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีตของ ธปท. อัตราดอกเบี้ยนโยบายมักจะถูกปรับขึ้นติดต่อกันในแต่ละการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินจึงอาจเกิดข้อสงสัยว่าหลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อการประชุมครั้งก่อนหน้าในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ธปท. จะปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 6 ก.พ.นี้หรือไม่
เมื่ออุปสงค์ในประเทศก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ในปี 2018 คาดว่าจะขยายตัวถึง 4.4% สูงสุดในรอบ 5 ปี และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้”
TMB Analytics มองว่าแม้อุปสงค์ในประเทศจะเติบโตดีในปีนี้ แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่คาดว่าในครึ่งปีแรกจะทรงตัวที่ระดับเพียง 62.5 ดอลลาร์ต่อบาเรล เทียบกับ เฉลี่ยที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาเรลจากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีอาจเฉลี่ยต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ 1% ของ ธปท.
สรุป
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มาจากเงินต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดการเงินไทยค่อนข้างเยอะ แม้เงินบาทแข็งค่าจะดีกับคนที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศ คนที่นำเข้าสินค้า แต่คนที่ต้องส่งออกสินค้า และนักท่องเที่ยวที่มาไทยอาจจะมีเงินจับจ่ายน้อยลงได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา