หลักทรัพย์บัวหลวง แนะระยะสั้น ค่าเงินบาท-หุ้นผันผวน รับกระแสโควิด-การเมือง เชื่อระยะยาวยังดี

ช่วงนี้ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงอยู่ในระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับต้นปีที่อยู่ระดับ 29 บาท ทำให้หลายฝ่ายเริ่มสนใจกันว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงอีกหรือไม่ ประกอบกับหุ้นไทยเองก็มีความผันผวนพอสมควร Brand Inside จึงต่อสายถึง บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นครั้งนี้

baht covid

สหรัฐแกร่ง ดอลลาร์แข็ง ทำเงินบาทอ่อน

ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง บอกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง เมื่อเทียบค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ ก็ต้องดูเศรษฐกิจสหรัฐด้วย ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐมีการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่า พ.ค.นี้ คนสหรัฐอย่างน้อย 90% จะได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้การใช้ชีวิต การทำงาน การเดินทาง จะใกล้คงภาวะปกติ ทำให้ความเชื่อมั่นและตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับมาอย่างแข็งแกร่ง

ยิ่ง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว ทำให้ Morgan Stanley คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจโตได้ถึง 8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ระดับ 6.2% สวนทางกับประเทศไทย ธปท. ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจเหลือ 3% นิดๆ ยิ่งมีการระบาดโควิดระลอกใหม่ ทำให้การใช้ชีวิตถูกจำกัดอีกครั้ง กำลังซื้อของคนไทยยังอ่อนแอ และถ้ายังเปิดประเทศไทยไม่ได้ การท่องเที่ยวและส่งออกก็มีอุปสรรค วัคซีนมาช้าและน้อยด้วย

ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นบริษัทส่งออกจะได้รับผลที่ดี ราคาสินค้าถูกลง แต่ข้อจำกัดจากโควิดทำให้ทำการค้าได้ไม่สะดวก ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ แต่ข้อเสียคือ สินค้านำเข้าราคาจะสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน อาจทำให้ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้น และเงินเฟ้อก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

stock thai
ภาพจาก Shutterstock

คาดเงินบาทอยู่ระดับ 32 บาท ครึ่งปีหลังแนวโน้มดีขึ้น

ในด้านของเม็ดเงินลงทุน คาดว่าจะยังไม่เข้ามาในทันที ยิ่งใกล้ช่วงสงกรานต์เป็นวันหยุดยาวที่มีโอกาสผันผวนอยู่ เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีก จนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนและเปิดประเทศ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่อาจปรับตัวลดลงในระยะสั้นนี้เช่นกัน

มุมมองต่อค่าเงินบาท คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32 บาท จากนั้น ธปท. น่าจะต้องมีมาตรการเข้ามาสร้างเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจและผู้ประการธุรกิจจนเกินไป และคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าพีคสุดในช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ซึ่งจะตรงกับแผนของรัฐบาลในการเริ่มเปิดประเทศ ส่งออกดีขึ้น ท่องเที่ยวเริ่มกลับมา และเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเป็นช่วงพีคเช่นเดียวกัน

สำหรับนักลงทุนไทย ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐาน โดยหุ้นที่น่าสนใจยังเป็นกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต ส่วนภาคบริการและบริโภค คงต้องรอครึ่งปีหลังแต่สามารถสะสมหุ้นไปได้เรื่อยๆ ในช่วงที่หุ้นอ่อนตัว หุ้นที่แนะนำ เช่น AOT, BTS, BEM, Central, CPN, CPALL, CRC, M, ZEN, AFTERU เป็นต้นฃ

baht covid
ภาพจาก Shutterstock

หัวใจสำคัญคือ วัคซีน ต้องเป็นไปตามแผน

ชัยพร กล่าวว่า หัวใจสำคัญคือ 2 เดือนจากนี้ วัคซีนต้องเข้ามาตามแผนและต้องมีการเริ่มเปิดประเทศ หากไม่เป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ ทุกอย่างก็จะดีเลย์ออกไป ตลาดครึ่งปีหลังจะไม่ฟื้นตัว เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวและส่งออก

สุดท้าย เชื่อว่า ในระยะสั้นถึงกลางปี ค่าเงินบาทและหุ้นมีความผันผวนตามสถานการณ์โควิดและการเมือง แต่สุดท้ายยังเป็นไปในทิศทางบวกหากวัคซีนมาถึงและมีการเริ่มเปิดประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการของรัฐบาลคือสิ่งสำคัญ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทย

“สหรัฐและจีน ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตสูงมาก ไทยเป็น Supply Chain ต้องได้ประโยชน์นี้ด้วยเช่นกัน อยู่ที่ว่าจะได้ช้าได้เร็ว ได้มากหรือได้น้อยแค่นั้น”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา