เงินบาทแข็งค่าทำต่างชาติไม่เที่ยวไทยเพราะ “แพง” ใช้จ่ายน้อยลงกระทบคนท้องถิ่น-SME รายได้หด

ค่าเงินบาทที่แข็งค่า หลายคนกลัวว่าจะกระทบการส่งออกของไทยให้ติดลบ แต่ยังมีอีกด้านที่ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กันคือ “การท่องเที่ยว” ที่อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวมาไทยน้อยลง และร้านค้า โรงแรม รวมถึงประชาชนรายย่อยได้เจอผลกระทบกันถ้วนหน้า

ภาพจาก Unsplash

บาทแข็งกระทบการท่องเที่ยว ลดเงินในกระเป๋าคนไทยและ SME เจ้าเล็ก

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) บอกว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 31.00 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาคอย่งมีนัยยะสำคัญ สาเหตุเพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับต่างชาติ และมีเงินต่างชาติไหลเข้าไทยจำนวนมาก 

ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่านอกจากทำให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออกเมื่อได้รับเงินสกุลต่างประเทศจะแลกกลับมาเป็นเงินบาทได้มูลค่าน้อยลง โดยมูลค่าการส่งออกสุทธิมีสัดส่วน 5-6% ของ GDP ไทยขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 15% ของ GDP ไทย

“เมื่อเงินบาทแข็งค่า ภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากส่วนหนึ่งเพราะธุรกิจนี้เป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของประชาชน ภาคครัวเรือน ถึงเวลาที่ภาครัฐต้อง Safe กลุ่มนี้ได้แล้ว ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเมื่อเงินบาทแข็งค่า ภาคการส่งออกจะได้รับความสนใจมากกว่า เพราะผู้ส่งออกมีปากมีเสียงอยู่แล้ว และกว่า 90%ในธุรกิจเป็นรายใหญ่ มีสมาคมฯ ที่สามารถรวมตัวเรียกร้องได้ แต่ภาคการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก เป็นประชาชนจำนวนมาก พอนักท่องเที่ยวมาไทยน้อยลง ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าทั่วประเทศทั้ง โรงเรียน ร้านอาหาร”

ทั้งนี้ต้องจับตามองผลกระทบเพิ่มเติมทั้งรายได้นอกภาคเกษตรของไทยที่อาจลดลงส่งผลต่อหนี้เสีย (NPL) ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการนำเข้าเยอะ เช่น อาหารสัตว์ อาหารสุนัข

ที่มา ธนาคารทหารไทย

ต่างชาติหวั่นเที่ยวไทยแพง ชี้นักท่องเที่ยวลด แต่คนไทยแห่เที่ยวนอก

ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นชาวต่างชาติจะมาเที่ยวไทยแพงขึ้น แม้ว่าจะตั้งงบการใช้จ่ายเท่าเดิมแต่สามารถซื้อของในไทยได้น้อยลง ทำให้คนไทยมีรายได้น้อยลงไปด้วย โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้จ่ายในไทย ปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะเติบโต 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ถือว่าชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่เติบโต 9.4%

ปี 2562 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวในไทยจะลดลงต่ำกว่า 40.4 ล้านคน ส่วนหนึ่งลดลงจากนักท่องเที่ยวจีน (มาใช้จ่ายที่ไทยปีละ 6.3 แสนล้านบาท) รวมถึงนักท่องเที่ยวยุโรป (มาใช้จ่ายที่ไทยปีละ 3.6 แสนล้านบาท) ทั้ง 2 ที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่นักท่องเที่ยวอาเซียนและเอเชียยังเพิ่มขึ้นมาชดเชยบ้าง

แต่เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าคาดว่าคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มบนจะออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เบื้องต้นจะออกไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 390,000 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ไทยในวงจำกัด โดยจะกระจุกตัวในธุรกิจสายการบิน ธุรกิจนำเที่ยว ประกันการเดินทาง

ทางออกของภาครัฐ ความหวังค่าเงินบาทอ่อนค่า

5 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกไทยติดลบ 2.7% การท่องเที่ยวชะลอตัว ข้อมูลจากต้นเดือนมิ.ย. ถึงปัจจุบันมีเงินไหลเข้าไทย 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดหุ้น 40,000 ล้านบาท และพันธบัตรระยะสั้นอีก 80,000 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าเป็นเงินร้อนที่ต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน และรับผลดีที่หุ้นไทยกำลังเป็นขาขึ้น

อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปกติจะดูแลค่าเงินบาทผ่านทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่ทำไม่ได้มากนัก เพราะอาจเข้าเกณฑ์การแทรกแซงเงินของสหรัฐซึ่งอาจกระทบให้สหรัฐงดสิทธิทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้ไทยได้ แต่อาจเห็นธปท.เพิ่มความเข้มข้นมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า เช่น มาตรการบนเงินต้นของธุรกรรมการลงทุนของต่างชาติ, มาตรการกำกับเพื่อลดความเสี่ยง และการเก็บภาษีเงินกำไรของธุรกรรมการลงทุนของต่างชาติ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่ามากขึ้น เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ผลตอบแทนที่สหรัฐฯ ต่ำเงินทุนต่างชาติก็จะไหลมาที่ภูมิภาคเอเชีย อาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น ส่วนค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงได้ หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หรือการจัดตั้งรัฐบาลไทยล่าช้า รวมถึงไม่มีความชัดเจนนโยบายที่จะออกมา นอกจากนี้หากธปท.มีมาตรการออกมาเพิ่มเติม

สรุป

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลเสียต่อคนที่ต้องรับรายได้เป็นสกุลเงินต่างชาติ และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ประกอบการภาคส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และภาคการท่องเที่ยวต้องกระจายความเสี่ยง ในลูกค้านักท่องเที่ยวที่หลากหลาย เพื่อลดผลกระทบเมื่อนักท่องเที่ยวในประเทศใดประเทศหนึ่งลดลง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา