หลังค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปี ช่วงนี้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าแต่สาเหตุเพราะอะไร และมีโอกาสจะอ่อนค่าไปถึงไหน
กรุงศรีคาดเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-31.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า สัปดาห์นี้ (4-8 มี.ค. 2562) คาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-31.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปรับตัวอ่อนค่าลงจากการปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1 มี.ค.) ที่อยู่ระดับ 31.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สัปดาห์นี้เงินบาทอาจแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ สาเหตุเพราะในตลาดโลกมีแรงซื้อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งในตลาดหุ้น (7,200 ล้านบาท) และพันธบัตรไทย (2,300 ล้านบาท)
ในเดือนก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.9% ปัจจัยหลักที่กระทบต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2.ราคาทองคำผันผวน 3. นักลงทุนปรับสถานะพอร์ท เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว
แนะปัจจัยต้องจับตามองเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันค่าเงินบาทยังแข็งค่า 2.3% ถือว่าแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังช่วงประคองค่าเงินบาทไว้ โดยปัจจัยที่อาจกระทบค่าเงินบาทและต้องจับตามองหลังจากนี้ ได้แก่
- ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น ดัชนีภาคบริการ การจ้างงานอกภาคเกษตร
- ความคิดเห็นของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ล่าสุดวิจารณ์นโยบายของ FED และมองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเกินไป
- การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)
- ความคืบหน้าประเด็น Brexit (การที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป) ว่าจะเสร็จสิ้นตามกำหนดการในเดือนมี.ค.ปีนี้หรือไม่
- Trade war ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีทิศทางการเจรจาที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามปัจจัยในประเทศที่ตอ้งจับตามองได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกรุงศรีมองว่าธปท.น่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเป็น 2% ภายในช่วงครึ่งปีแรกนี้
สรุป
ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ต่างๆ ของโลก ในส่วนรายย่อยใครที่จะไปเที่ยวอาจรอช่วงเงินบาทแข็งค่าแล้วทยอยแลกเงินเก็บไว้ ส่วนผู้ประกอบการทั้งส่งออกนำเข้าอาจต้องทำประกันป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพื่อไม่ให้ขาดทุนการทำธุรกิจ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา