เงินบาทจะอ่อนค่าได้ไหม? เมื่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า-แบงก์ชาติออกมาตรการดูดซับสภาพคล่อง

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย นี่จะเป็นสัญญาณว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อเนื่องหรือไม่?

แบงค์พัน
ธนบัตรไทยมูลค่า 1,000 บาท // ภาพโดย Peter Hellberg from Stockholm, Sweden (Thai baht) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons

เมื่อเงินบาทกลับมาอ่อนค่าแตะ 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะอ่อนค่าต่อเนื่องไหม?

ค่าเงินบาทเช้าวันนี้ (2 ก.ค. 2562) ที่ระดับ 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) ที่ปิดตลาดที่ระดับ 30.67 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเมื่อวานที่เคลื่อนไหวแข็งค่าไปถึง 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สาเหตุหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เป็นทิศทางเดียวกับราคาทองคำโลกที่ลดลง 0.50% มาอยู่ที่ 1,388 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาจาก เมื่อคืนนี้นักลงทุนในตลาดเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จาก Trade war ที่ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐ เจรจากับจีนภายใต้การประชุม G-20 ว่าจะไม่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของจีนอีก 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ตลาดเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐ-จีน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น เช่น

  • ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ บวก 0.77% ทำสถิติจุดสูงสุดใหม่
  • ยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวขึ้น 0.69%
  • ดัชนี FTSE100 ของอังกฤษพุ่งขึ้นกว่า 0.97%

ดังนั้นเมื่อตลาดหันไปลงทุนมาขึ้น ขณะเดียวกันเห็นการอ่อนค่าของเงินยูโรและเงินปอนด์ รวมถึงปัญหาการเมืองยุโรปที่สร้างความเสี่ยงให้ตลาดส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น

Yuan RMB USD US Dollar
ภาพจาก Shutterstock

หลังจากนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอ่อนค่าไหมเมื่อแบงก์ชาติออกโรง?

ธนาคารกรุงไทย (KTB) คาดการณ์ว่าวันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.65-30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นกรอบที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย และจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกนโยบายลดการดูดซับสภาพคล่อง (ลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น) โดยรวมลง 20,000 ล้านบาท ซึ่งเราเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับตลาด

ด้านธปท.บอกว่า การออกกพันธบัตรในเดือนก.ค. ธปท. พิจารณาการปรับเพิ่มหรือลดวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. ตามความเหมาะสมของปริมาณสภาพคล่องและความต้องการของตลาดในแต่ละเดือน

ปัจจุบันธปท. มีวงเงินที่ต้องออกพันธบัตรทุกเดือนอยู่แล้ว ดังนั้นการลดวงเงินพันธบัตรระยะสั้น (ลดอุปทาน) จะทำให้ความน่าสนใจในผลตอบแทนพันธบัตรลดลง เพราะเมื่อออกมาขายในตลาดรองราคาพันธบัตรจะเพิ่มขึ้น (อุปสงค์เท่าเดิมคำอยากซื้อพันธบัตรแต่ของมีจำนวนน้อยลง) ทำให้ผลตอบแทนลดลง เลยอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติลดความสนใจในการลงทุนพันธบัตรไทย

โดยธปท. ทำเพื่อชะลอเงินทุนที่ไหลมาจากต่างชาติ อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากปัจจัยต่างๆ เช่น

  • Trump ไม่สร้างปัจจัยลบให้ตลาด และสร้างทิศทางที่ดีในการเจรจาสงครามการค้ากับจีน
  • หากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง สวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น อาจเห็นเม็ดเงินไหลกลับไปที่สหรัฐทำให้ดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นได้
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจลดดอกเบี้ยในช่วงเดือนก.ย. 2019 สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั่วโลก ทำให้ดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่ากลับได้ทันทีที่ตลาดทุนปิดรับความเสี่ยง (Risk Off)

สรุป

เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ยังอ่อนค่าเพียงเล็กน้อย หลังจากนี้ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องทั้ง Trade war และเศรษฐกิจโลก หากมีทิศทางชะลอตัว อาจเห็นเม็ดเงินนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยง และเทเงินมาที่เอเชียมากขึ้นซึ่งอาจทำให้ค่าเงินในเอเชียแข็งค่าขึ้นรวมถึงไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา