ช่วงเวลานี้ตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกยังเติบโตสวยงาม แต่ค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า อาจทำให้หลายคนสนใจไปลงทุนในกองทุน หรือหุ้นในต่างประเทศ เพราะคุ้มกว่า
ส่วนคนที่ลงทุนไปแล้วถึงกองทุนฯ ยังมีกำไร แต่ได้ผลตอบแทนน้อยลงหรือไม่?
บาทแข็งค่ากระทบกองทุนรวมต่างประเทศหดตัว
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2019 ค่าเงินบาทแข็งค่า 5.18% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนไทยกองทุนรวมเพื่อลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) ทั้งหมด 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
- ตราสารหนี้ 836,000 ล้านบาท
- หุ้น 234,000 ล้านบาท
- กองทุนผสม 128,000 ล้านบาท
- สินค้าโภคภัณฑ์ 28,000 ล้านบาท
แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือเมื่อเงินบาทแข็งค่าทำให้ มูลค่ากองทุนทั้งหมด (AUM) ลดลง 27,500 ล้านบาทเมื่อเทียบจากต้นปี 2019 ซึ่งเงินก้อนนี้ถ้าไม่หายไปยังเพิ่มผลตอบแทนได้อีก ส่วนถ้าดูมูลค่าการจัดจำหน่ายลงทุน (NAV) ค่าเฉลี่ยรวมทั้งตลาดลดลง 0.47% โดยกองทุนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ทองคำและน้ำมัน ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนรวม FIF ในไทยส่วนใหญ่จะลงทุนผ่าน Master Fund (กองทุนหลัก) ในต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อกองทุนเกิดผลตอบแทน ต้องลบค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวมในไทย ลบค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็ทำให้ผลตอบแทนที่คนไทยได้จะน้อยลงไปด้วย
เมื่อลงทุนนอกมีความเสี่ยง มาดูต้นทุนการทำ Hedging ของกองทุนรวม FIF
ปัจจุบันกองทุนรวม FIF บางส่วนมีทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedging) เช่น หากดูกองทุนรวม FIF ที่เป็นหุ้นประมาณ 50% จะทำ Hedging แบบดุลยพินิจ คือผู้จัดการกองทุนเป็นคนเลือกว่าจะทำ Hedging ช่วงไหน
อย่างไรก็ตามต้นทุนการ Hedging ของกองทุนรวม FIF ในช่วง Swap point ติดลบจะลดแรงจูงใจการทำ Hedging เพราะจะทำให้ผลตอบแทนกองทุนที่ขายในไทยลดลงได้วย ปัจจุบันต้นทุนในการทำ Hedging ทั้ง 100% อยู่ที่ 0.30% ของ AUM กองทุนรวมนั้นๆ ถ้าเลือกจะทำ Hedging ประมาณ 50% จะคิดค่าใช้จ่ายราว 0.15%ของ AUM กองทุนรวมนั้นๆ
ว่าแต่กองทุนรวม FIF เขาทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedging) อย่างไร?
ปัจจุบันกองทุนรวม FIF ผ่านการทำประกันความเสี่ยงผ่านการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (ล่วงหน้า) ลักษณะคล้ายกับผู้ส่งออกที่ต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน
ทั้งนี้ราคาหรืออัตราในการทำ Hedging ยังแพงขึ้นเพราะ Swap Point หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐยังต่างกันมาก ที่่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Swap point ของไทยติดลบตลอด ส่งผลต่อการทำ Hedging
ตัวอย่างเช่น หาก Swap point ติดลบ 12 สตางค์ ลูกค้าต้องการทำสัญญาซื้อขายบาทที่ Spot rate : 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใน 6 เดือนข้างหน้า เมื่อถึงเวลาที่กำหนดลูกค้าจะได้เงินค่าสินค้าในอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกันหากทำ Hedging ใน Swop point เป็นบวก เช่น หาก Swap point บวก 10 สตางค์ เมื่อลูกค้าการทำสัญญาซื้อขายบาทที่ Spot rate : 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใน 6 เดือนข้างหน้า เมื่อถึงเวลาที่กำหนดลูกค้าจะได้เงินค่าสินค้าในอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หมายถึงลูกค้าได้เงินเพิ่มขึ้น เพราะหมายถึงกำไรที่มากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา