เมื่อพูดถึงเด็ก เราก็คงจะนึกถึงกิจกรรมผ่อนคลาย สนุกสนาน อย่างการร้องเพลงและการเต้น เพราะเด็กเป็นช่วงวัยที่กำลังพัฒนาความจำ บทเพลงจึงมีส่วนทำให้เด็กสามารถจดจำเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้นจากทำนองที่จดจำได้ง่าย จนขนาดว่ามีเพลงที่แต่งมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนในโลกที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็พลอยสนุกไปด้วยอย่างเพลงฮิตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่าง Baby Shark ที่แม้แต่วัยรุ่นเองก็ยังชอบ
หากผู้ใหญ่ยังสามารถสนุกกับเพลงเด็ก ก็คงจะไม่แปลกอะไรหากเด็กจะสนุกกับเพลงของผู้ใหญ่บ้าง อย่างที่เพลงร็อคเจาะกลุ่มวัยรุ่นอย่างเพลง “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ของวง Paper Planes กลายเป็นเพลงที่ได้ยินบ่อยในโรงเรียนอนุบาลแทนที่จะเป็นโรงเรียนมัธยมฯ และพอถึงท่อน “ทรงอย่างแบด sad อย่างบ่อย เธอไม่ชินกับผู้ชาย bad boy“ วัยรุ่นฟันน้ำนมต่างพากันร้องตะโกนตามเนื้อเพลง เพลงทรงอย่างแบดได้รับความนิยมในหมู่เด็กเล็กวัยอนุบาลจนถึงขนาดที่มีผู้ปกครองโทรศัพท์มาหาวง Paper Planes ถามว่าจะไปแสดงดนตรีที่ไหนบ้าง เพราะจะพาลูกหลานไปดู และปัจจุบันก็มียอดวิวใน YouTube ถึงราว 43 ล้านวิวแล้ว
หากเราลองมาดูว่าทำไมเพลงที่วัยรุ่น ๆ แบบนี้กลับถูกใจเด็กเล็กก็จะพบว่าเพลงทรงอย่างแบดมีลักษณะร่วมกับลักษณะของเพลงเด็กหลายอย่างแม้ว่าเพลงนี้จะเป็นเพลงร็อควัยรุ่น
เพลงมีคำคล้องจอง มีท่อนซ้ำ จำง่าย ร้องตามง่าย
ลักษณะเด่นที่สำคัญของเพลงเด็ก คือ เนื้อเพลงต้องจำง่ายเพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่กำลังพัฒนาความจำ เพลงจึงต้องช่วยให้เด็กจำได้ดีมากขึ้น การทำให้เพลงจำง่ายทำได้หลายวิธี และหนึ่งในนั้นก็คือแต่งเพลงให้มีสัมผัสคล้องจองกัน
ยกตัวอย่างเพลงเด็กของไทยที่มีคำคล้องจองอย่างเช่นเพลงเป็ดอาบน้ำในคลองที่อยู่มาทุกยุคทุกสมัย ที่ร้องว่า “ก๊าบ ก๊าบ ก๊าบ เป็ดอาบน้ำในคลอง ตาก็จ้องแลมองเพราะในคลองมีหอยปลาปู” จะเห็นว่าทุกวรรคมีคำคล้องจองอย่าง ก๊าบ-อาบ คลอง-มอง-คลอง
แม้แต่เพลงเด็กภาษาอังกฤษสุดคลาสสิกอย่าง Twinkle Little Star ที่ร้องว่า “Twinkle, twinkle, little star, How I wonder what you are!” ก็ยังมีคำสัมผัสตรง Twinkle-Little และ Star-Are
เพลงทรงอย่างแบดเรียบเรียงเนื้อเพลงได้คล้องจองกันแทบจะทุกท่อน ในท่อนฮุคซึ่งเป็นท่อนที่จำได้ง่ายที่สุด เพลงร้องว่า “ทรงอย่างแบด sad อย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย bad boy“ จะเห็นว่ามีคำคล้องจองที่ลงจังหวะกันพอดีตรง แบด-sad และ บ่อย-boy อีกท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “ทรงอย่างแบด sad อย่างบ่อย เธอไม่รัก ฉันก็คงต้องปล่อย” ก็จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนสัมผัสจาก บ่อย-boy เป็นบ่อย-ปล่อย
ไม่ใช่แค่ในท่อนฮุคเท่านั้น แต่เพลงทรงอย่างแบดแทบจะแต่งด้วยคำคล้องจองแทบจะทุกท่อน อย่างท่อนที่ 2 ที่ร้องว่า “ก็คนนี้น่ะตรง type ไม่ว่าคนไหนไม่สู้เธอ ก็คนนี้ อยากจองไว้ ไม่อยากให้ใครมาพบเจอ“ ก็จะเห็นว่ามีคำสัมผัสตรง type-ไหน, ไว้-ให้-ใคร และ เธอ-เจอ ก็คล้องจองกันระหว่างวรรค
นอกจากนี้ เพลงทรงอย่างแบด ยังมีท่อนฮุคซ้ำที่ร้องใกล้เคียงกันอย่าง “ทรงอย่างแบด sad อย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย bad boy“ ท่อน “ทรงอย่างแบด sad อย่างบ่อย เธอไม่รัก ฉันก็คงต้องปล่อย” และ “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย ปล่อยเธอไปกับไอ้หนุ่ม good boy“ รวมทั้งเนื้อเพลงในแต่ละท่อนก็ไม่ได้เป็นเนื้อเพลงที่ยาว แต่ถูกตัดให้สั้นลงตามจังหวะเพลง อย่างท่อนฮุคก็มีเนื้อเพลงที่ถูกแบ่งอยู่วรรคละ 3-7 คำว่าเท่านั้น (ทรงอย่างแบด// แซดอย่างบ่อย)
ใช้คำศัพท์ง่าย เล่าเรื่องที่เด็กเข้าใจได้ ไม่มีคำหยาบ
นอกจากเพลงจะเป็นความบันเทิงที่ช่วยพัฒนาความจำของเด็กแล้ว การแทรกคำศัพท์ลงในเพลงยังช่วยให้เด็กจำคำศัพท์ง่ายขึ้นด้วย โดยคำศัพท์ที่ใช้มักจะเป็นคำศัพท์ง่าย ๆ และเป็นคำที่เจอบ่อยในชีวิตประจำวัน อย่างสัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่การท่องก-ฮ หรือ A-Z
เพลงทรงอย่างแบดเป็นเพลงภาษาไทยแต่ก็มีบางท่อนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นคำง่าย ๆ ซึ่งเป็นคำในระดับที่เด็กวัยอนุบาลมักจะได้เรียนรู้อยู่แล้ว อย่างคำนามว่า “boy” และ “girl” หรือคำคุณศัพท์อย่างง่ายที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวันอย่าง “sad” “bad” “good”
นอกจากศัพท์ภาษาอังกฤษจะไม่เป็นปัญหากับเด็ก ๆ แล้ว ยังทำให้เด็กวัยอนุบาลสามารถจำคำศัพท์ได้ดีขึ้นและสนุกกับการจดจำคำศัพท์ด้วยเพราะแค่ไม่ใช่การท่องจำจากการเรียนในห้องเรียน
ไม่เพียงแค่ใช้คำศัพท์ง่าย แต่เพลงยังเล่าเรื่องความรักวัยรุ่นที่เด็กสามารถเข้าใจได้ด้วยเพราะใช้คอนเซ็ปต์ “คนดี” (good boy) และ “คนไม่ดี” (bad boy) อย่างที่เรามักถูกสอนกันมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งแนวคิดการมีสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีเป็นขั้วตรงข้ามกันมักจะปรากฎอยู่ในนิทานหรือเพลงสำหรับเด็กอยู่แล้วเพื่อสอนข้อคิดให้กับเด็ก เหมือนกับท่อนฮุคที่ร้องว่า “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย ปล่อยเธอไปกับไอ้หนุ่ม good boy”
ที่สำคัญเลยคือแม้จะเป็นเพลงร็อคสำหรับวัยรุ่น แต่เนื้อเพลงแทบไม่มีคำหยาบหรือข้อความอะไรที่สื่อไปในทางลบเลย มีส่วนให้เหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถยอมรับเพลงนี้และเปิดให้ลูกๆ ฟังไปได้อย่างไม่ติดขัด
สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ๆ ด้วยกัน
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของเพลงเด็ก คือ เพลงทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหวและตอบสนองไปกับเพลงไม่ว่าจะเป็นการปรบมือ การโยกศีรษะ และการขยับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ยกตัวอย่าง เช่น เพลงที่เราคุ้นหูกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่ร้องว่า “หากพวกเรากำลังสบาย จงปรบมือพลัน” ที่ให้เด็กวันอนุบาลให้ปรบไม้ปรบมือตามเพลง
เราเองเวลาที่ได้ร้องเพลงกับเพื่อนอย่างในห้องคาราโอเกะหรือคอนเสิร์ตก็จะรู้สึกอินกับเพลงมากขึ้นจากเดิมที่อินอยู่แล้ว เด็ก ๆ เองก็เช่นเดียวกัน เมื่อเพลงทรงอย่างแบดถูกนำไปเปิดในโรงเรียนอนุบาล ด้วยเนื้อเพลงและจังหวะที่จำง่าย เพลงทรงอย่างแบดทำให้เด็ก ๆ สามารถตะโกนร้องท่อนฮุคพร้อมกันได้เมื่อได้ยินเสียงเพลง ทำให้เด็กได้มีโอกาสร้องเพลงร่วมกับเพื่อน
แม้ว่าเพลงทรงอย่างแบดจะไม่ได้ให้เด็กขยับร่างกาย แต่ท่อนฮุคก็กระตุ้นให้เด็กได้ตะโกน ได้ร้องเพลงและช่วยสร้างความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ให้กับเด็กในวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็นและอยากทำสิ่งเดียวกับคนที่โตกว่า การร้องเพลงทรงอย่างแบดไปกับเพื่อนในโรงเรียนเลยอาจทำให้เด็กวัยอนุบาลรู้สึกเท่เหมือนเป็นคนแบดบอยอย่างในเพลงด้วย
สื่อและคนรอบตัวทำให้เด็กยิ่งอินกับเพลง
แม้ว่าจะเป็นเพลงร็อควัยรุ่น ไม่ได้เป็นเพลงสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่เนื้อเพลงทรงอย่างแบดไม่มีคำหยาบหรือแนวคิดที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ปกครองและคุณครูไว้วางใจที่จะให้เด็กอนุบาลฟัง และด้วยความที่เป็นเพลงที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทั่วไป ทำให้เพลงทรงอย่างแบดก็เป็นเพลงที่ฟังง่ายและติดหูผู้ใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่ทำให้เพลงทรงอย่างแบดได้รับความนิยมและติดหูคนฟังก็คือ TikTok ตั้งแต่ช่วงที่แอปพลิเคชันเริ่มได้รับความนิยมจนมาถึงปัจจุบัน TikTok ปั้นให้เกิดเพลงดังหรือที่เราเรียกกันว่า “เพลงแมส” ไม่รู้ต่อกี่เพลง เพราะการตัดคลิปและใส่เพลงลงไปช่วยดึงดูดความสนใจให้คนมากขึ้น
เพลงทรงอย่างแบดเองก็ได้รับความนิยมใน TikTok จนถึงขั้นมีเด็กวัยอนุบาลที่อัดคลิปพร้อมเพลงนี้ เมื่อคลิปวิดีโอถูกแชร์ออกไปและมีคนจำนวนมากเห็น ก็ทำให้เพลงนี้เข้าสู่กลุ่มวัยรุ่นขวดนมได้ง่าย ๆ เพราะทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและคุณครูจำนวนไม่น้อยที่เล่น TikTok ด้วย ช่วงวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่มีการเลียนแบบและทำตามกันได้ง่าย เมื่อเห็นเพื่อนทำ เด็กหลาย ๆ คนจึงทำตามเพื่อนบ้างทำให้เพลงยิ่งเข้าถึงเด็ก ๆ ได้รวดเร็วขึ้นอีก
จริง ๆ เพลงทรงอย่างแบดถือเป็นปรากฎการณ์ในวงการเพลงก็ว่าได้ที่เพลงร็อควัยรุ่นกลายเป็นเพลงฮิตติดใจวัยรุ่นขวดนม จนไม่ใช่แค่เพลงที่เด็กชอบ แต่วง Paper Planes เจ้าของเพลงเองก็กลายเป็น ‘ไอดอล’ ของเด็ก ๆ จนทางวงดนตรีเองออกมาบอกว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับกลุ่มแฟนคลับตัวยงกลุ่มใหม่นี้
ไม่แน่ว่าวงการเพลงเด็กอาจต้องพิจารณาแต่งเพลงเป็นเพลงป๊อปหรือเพลงร็อคเพื่อให้กลายเป็นเพลงฮิตติดหูเพื่อเอาใจกลุ่มวัยรุ่นฟันน้ำนมเสียแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา