ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ดี แต่ต้องมีแผน! เจาะความสำเร็จ Babyjingko YouTuber สายไลฟ์สไตล์กับการติดตะกร้า Shopee

แม้ตอนนี้การสร้างรายได้ด้วยอาชีพ YouTuber จะทำง่ายขึ้น ผ่านต้นทุนอุปกรณ์ที่ถูกลง และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยมีมากขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยการแข่งขันที่สูงกว่าเดิมจน YouTuber ที่ทำอาชีพนี้มานานต้องขยับตัวสร้างโอกาสใหม่ หนึ่งในนั้นคือ Babyjingko สาว YouTuber สายไลฟ์สไตล์ที่ทำช่องมานานถึง 9 ปี

Babyjingko หรือ จิง – ธัญชนก เจริญคติธรรม ทำ YouTuber แนวไลฟ์สไตล์ หรือพาไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ ผ่านรูปแบบ Vlog รวมถึงมีวิดีโอแนว Beauty Blogger ที่สอนเรื่องความสวยความงามรูปแบบต่าง ๆ เลือกร่วมเข้าโครงการ YouTube Shopping หรือการปักตะกร้าสินค้าที่ร่วมมือกับช้อปปี้ในคลิปบน YouTube

การปักตะกร้านี้ช่วยให้เธอสร้างรายได้กว่า 3 แสนบาท ในปี 2024 ซึ่ง Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับเธอถึงความสำเร็จ ภาพรวมตลาด Content Creator ในปัจจุบัน รวมถึงแรงบันดาลใจถึง Content Creator รุ่นใหม่ ดังนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าใคร ๆ ก็เป็น Creator ได้

ธัญชนก เจริญคติธรรม เจ้าของช่อง Babyjingko บน YouTube และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ใคร ๆ ก็สามารถเป็น Content Creator ได้ ผ่านการเป็นคนสร้างสรรค์สื่อต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย ต่างกับเมื่อก่อนที่บางคนอาจไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะเป็น Content Creator ได้หรือไม่

“ทิศทางดังกล่าวเปลี่ยนไปตั้งแต่ช่วงโรคโควิด-19 เริ่มระบาด เพราะเวลานั้นทุกคนต้องอยู่ในบ้าน และเริ่มหาอะไรใหม่ ๆ ทำ หนึ่งในนั้นคือการเป็น Content Creator และก็รู้ว่าตัวเองก็ทำได้ และเกิดการเติบโตก้าวกระโดดของผู้ที่เข้ามาทำอาชีพนี้”

สำหรับ Babyjingko ได้เริ่มทำช่องบน YouTube เมื่อ 9 ปีก่อน ปัจจุบันมีผู้ติดตามราว 7 แสนคน และยังเน้นทำเนื้อหาต่าง ๆ บนช่องทาง YouTube มากกว่า เพราะตัวผู้ชมมีความ Loyalty กับช่องมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น รวมถึงตัวเนื้อหาที่ทำยังตรงกับการรับชมเนื้อหาแบบยาว หรือ Longform ดังนั้นช่องทาง YouTube จึงเหมาะสมกว่า

แต่ตอนนี้วิดีโอสั้นเริ่มแพร่หลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การรับชมเนื้อหาแบบสั้น หรือ Shortform กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน และมี Content Creator จำนวนมากที่ทำเนื้อหาประเภทนี้ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการรับชมของผู้ชมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป แต่จริง ๆ แล้วความต้องการเนื้อหาแบบยาวยังมีอยู่ และต้องการคนที่ผลิตเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้เช่นกัน

“เนื้อหาแบบยาวมันมีประโยชน์คือ การค้นหาข้อมูลที่ง่าย และยังมีการรับชมอยู่ตลอดเวลา เช่น คอนเทนต์เมื่อ 5 ปีที่แล้วยังมีการคอมเมนต์ถามอยู่ ซึ่งต่างกับเนื้อหาแบบสั้น นอกจากนี้ทางช่องเองยังมีผู้ติดตามขอคลิปยาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด และตอบโจทย์ผู้ชมด้วย”

คุณจิงเสริมว่า จากพฤติกรรมการดูของผู้ชมเปลี่ยนไป YouTuber ก็ต้องเป็น Storyteller ที่เก่งไปอีกขั้น เช่น ช่องคุณ FAROSE ที่เน้นการเล่าเรื่อง หรือการอธิบายเชิงลึกทั้งการดูแลตัวเอง หรือเกี่ยวกับการเรียน รวมถึงประสบการณ์ชีวิต ยกเว้นการทำคลิปสอนเรื่องที่ไม่ต้องลงรายละเอียดเยอะมากอาจใช้การทำเนื้อหาแบบสั้นมากกว่า

เริ่มต้นติดตะกร้าบน YouTube เมื่อปี 2024

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การแข่งขันของ YouTuber มีมากขึ้น ทำให้ YouTuber ในไทยต้องหาวิธีสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการทำ Affiliate หรือติดตะกร้า

“จริง ๆ ตั้งแต่ทำ YouTube มามีการให้พิกัดสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้ใต้คลิปอยู่ตลอด จนมีอยู่วันหนึ่งคนดูเริ่มบอกให้ทำ จะได้ช่วยสร้างรายได้ให้เราอีกทาง ดังนั้นจากการทำเพื่อแบ่งปัน Resource สุดท้ายเราก็ยกระดับให้เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ยิ่งเราทำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์มันก็ยิ่งเหมาะสมในการทำ Affiliate”

ช่อง Babyjingko เข้าร่วมโครงการ YouTube Shopping ในปี 2024 ที่เปิดให้ YouTuber สามารถติดตะกร้าสินค้าต่าง ๆ ใน Shopee บนคลิป YouTube ของช่องได้ โดยโปรแกรมฯนี้ได้ร่วมมือกับ Shopee ผ่านการเป็นช่องทางปิดการขายของสินค้าต่าง ๆ

สร้างรายได้กว่า 3 แสนบาทในปีแรก

ช่อง Babyjingko สามารถสร้างรายได้จากช่องทาง Affiliate ผ่านโครงการดังกล่าวได้กว่า 3 แสนบาท ด้วยความสะดวกกว่าเดิม แทนที่จะต้องแปะพิกัดที่ฝังลิงค์สินค้าไว้ใต้คลิปแบบเดิม แต่ด้วยโปรแกรม YouTube Shopping เราสามารถปักตะกร้าสินค้าของ Shopee ในคลิป ระหว่างที่เราพูดถึงสินค้านั้นๆได้เลย ทำให้ผู้ชมตัดสินใจกดซื้อได้สะดวกขึ้น

การมี Affiliate แบบนี้ช่วยให้รายได้รวมจากการทำ YouTube เพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะผู้ชมนั้นกดจริง ที่สำคัญคือคอนเทนต์อะไรก็สามารถติดตะกร้าสินค้าได้ เช่น ทำคลิปท่องเที่ยว กล้องวิดีโอ, เสื้อผ้า หรือสินค้าเกี่ยวกับการแต่งหน้าก็สามารถติดตะกร้าได้

ำหรับสินค้าที่ช่อง Babyjingko สร้างยอดขายได้ดีผ่านการทำ Affiliate จะมีเช่น ถุงมือขัดผิว และสกินแคร์ต่าง ๆ โดย 80% ของสินค้าที่ทำ Affiliate เป็นสินค้าที่ช่อง Babyjingko ใช้งานจริง และอาศัยการเล่าด้วยความน่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มโอกาสตัดสินใจของผู้ชมเช่นกัน

ไม่จำเป็นต้องคิดกลยุทธ์เพื่อให้กดซื้อ

คุณจิง ชี้ว่า ไม่จำเป็นต้องวางกลยุทธ์ชัดเจนเพื่อทำคลิปให้ผู้ชมกดซื้อสินค้า แต่เป็นการสร้างความสงสัยให้คนดูเพื่อเป็นการต่อยอดทั้งมุมการรับชม และการตัดสินใจกดซื้อสินค้ามากกว่า ในทางกลับกันไม่ใช่แค่ถาม แต่บางครั้งอาจขึ้นด้วยคำตอบ หรือการแนะนำแบบปกติโดยไม่ต้องใส่ใจเรื่องการขายก็ได้

“ถ้าเราทำให้คนดูเสียความน่าเชื่อถือครั้งเดียว กว่าจะสร้างกลับมามันก็ยาก เราไม่ได้ตามเทรนด์ทุกเทรนด์ ถ้าช่วงนี้เป็นช่วงตรุษจีน คนก็หาลิปสีแดง มันก็ตรงกับคนที่น่าสนใจ และก็น่าจะลิงก์ไปที่การขายได้ แต่เราเน้นเรื่องที่มันมีความสัมพันธ์ เช่น ผม ผิว และการแต่งตัว ซึ่งมันสามารถรับชมได้ทุกเวลา จึงไม่ต้องไปตามเทรนด์ขนาดนั้นได้”

ที่สำคัญต้องนึกเหมือนกับการเป็นคนแนะนำเพื่อน หรือคนในครอบครัว เพราะการแนะนำแต่สิ่งดี และทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ เพิ่มความสงสัย และทำให้ Affiliate ไปได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เน้นขายสินค้า ต้องมีความจริงใจ และทุกอย่างประยุกต์เป็นคอนเทนต์ได้ หากใครถนัดอะไร ก็สามารถหยิบสิ่งนั้นมาทำตลาดทันที

เจาะรายละเอียดการทำ YouTube Shopping

หากอ้างอิงข้อมูลจาก Google จะพบว่า YouTube Shopping ช่วยให้ผู้ชมสามารถเห็นสินค้า และราคาได้อย่างชัดเจน โดยเจ้าของช่องจะได้รับค่าคอมมิชชันที่คุ้มค่าเมื่อเกิดการซื้อสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าว

เจ้าของช่องสามารถตั้งค่าต่าง ๆ ผ่าน YouTube Studio ได้ทั้งการกำหนดระยะเวลา และช่วงการแสดงสินค้า รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย และไทย ที่ให้บริการโปรแกรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดคือ ต้องเป็นพาร์ตเนอร์ของ YouTube และมีผู้ติดตามมากกว่า 10,000 คน รวมถึงไม่ได้เป็นช่องเพลง ช่องอย่างเป็นทางการของศิลปิน หรือช่องที่เชื่อมโยงกับพาร์ตเนอร์เพลง และไม่ได้กำหนดผู้ชมของช่องเป็นสร้างมาเพื่อเด็ก และช่องไม่ได้มีวิดีโอจำนวนมากที่กำหนดเป็นสร้างมาเพื่อเด็ก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา