ทางรอดสายการบิน? บางกอกแอร์เวย์ส จ่อทำ Duty Free หารายได้เสริมนอกธุรกิจการบิน

ธุรกิจสายการบินแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกปี นอกจากคู่แข่งเจ้าใหม่ที่เปิดตัวในตลาด คู่แข่งที่มีอยู่เดิมยังแข่งขันกันหั่นราคาเพื่อเพิ่มยอดขาย ทางออกของธุรกิจสายการบินอาจต้องทำมากกว่ารายได้จากไฟลท์บิน แต่ต้องหารายได้จากด้านอื่นด้วย

BA ขยายรายได้ธุรกิจใหม่จ่อเข้าประมูล Duty free เพิ่มบริษัท Training

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (บางกอกแอร์เวย์ส) บอกว่า เมื่อการแข่งขันธุรกิจการบินสูงขึ้น ทางบริษัทหาทางเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ โดยเป้าหมายภายใน 4-5 ปีนี้ รายได้ที่ไม่ใช่สายการบินของบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ของรายได้ทั้งหมด จะมาจาก หน่วยธุรกิจครัวการบิน (Catering) บริการภาคพื้น คลังสินค้้า ฯลฯ ภายในปีนี้จะเข้าร่วมการประมูล Duty free หรือพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีอากรในท่าอากาศยานของบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT)

“เราต้องหารายได้ใหม่จากธุรกิจอื่นเพิ่ม ปีนี้ที่ภาครัฐเปิดประมูล Duty free เราก็สนใจเข้าร่วมตอนนี้รอ TOR (ข้อกำหนดและเงื่อนไขจากผู้ว่าจ้าง) ที่ชัดเจนหากเงื่อนไขมีการปรับเปลี่ยนอะไรเราก็พร้อมปรับและเข้าร่วมการประมูล โดยมองว่าการเปิดให้มีผู้เล่นใน Duty free มากกว่า  1 รายจะทำให้ผู้ซื้อได้ประโยชน์มากขึ้น แต่เราก็มีแผนเพิ่มรายได้ส่วนอื่นๆ เช่น Catering ที่เราทำอาหารส่งลูกค้า บริการภาคพื้น คลังสินค้า ฯลฯ”

ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทมาจากสายการบิน 74% และรายได้อีก 26% มาจากธุรกิจ Catering Ground คลังสินค้้า ฯลฯ นอกจากนี้ตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อขยายธุรกิจใหม่ด้านสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (บางกอกแอร์เวย์ส-BA)

ความท้าทายธุรกิจการบิน และการลงทุนในปี 2562

การแข่งขันในธุรกิจสายการบินเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทางบริษัทต้องขยายเส้นทางการบิน และความถี่ในเที่ยวบินต่างๆ มากขึ้น โดยจะขยายเส้นทางในประเทศและ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่มีการเติบโตสูง ปัจจุบันรายได้ผู้โดยสารจดจำหน่ายตามช่องทางการขายมาจาก ยุโรป 30-40% ไทย 20% ที่เหลือคือเอเชีย

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าหมายปี 2562 รายได้จากการบินเติบโต 3.5% จากปีก่อน จำนวนผู้โดยสารเติบโต 3% จากปีก่อน โดยปีนี้มีแผนงานและปัจจัยที่ต้องจับตามองได้แก่

  • ขยายแผนงานเพิ่มช่องทางออนไลน์ผ่าน Platform และพาร์ทเนอร์เจ้าใหม่ๆ
  • ปีนี้เตรียมเงินลงทุนกว่า 1,815 ล้านบาท เช่น การซื้อเครื่องบิน 2 ลำ, การซ่อมบำรุงท่าอากาศยานและพัฒนาพื้นที่ในสนามบิน (สุโขทัย,ตราด), พัฒนาด้าน IT ฯลฯ
  • ในไตรมาส 2 ปีนี้ จะมีความชัดเจนเรื่องแผนงานจัดซื้อและเช่าเครื่องบินรวม 20 ลำ (ปัจจุบันเจรจาเรียบร้อยแล้ว 2 ลำ) เพื่อทดแทนเครื่องบินที่มีอยู่ โดยเครื่องบินใหม่ที่มีเทคโนโลยีดีขึ้น ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง 15-20% ทั้งนี้เครื่องบินลำใหม่จะทยอยเปลี่ยนและแทนที่ในระยะ 4-5 ปีหลังจากนี้
    ปัจจุบันฝูงบินของบริษัทมีอยู่ 40 ลำ แบ่งเป็น Aisbus 25 ลำ 75-500 4 ลำ ATR 72-600 11 ลำ
  • จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามองว่าจะไม่กระทบกับบริษัทมากนัก เพราะบริษัทมีรายได้ และค่าใช้จ่ายในแต่ละสกุลเงินใกล้เคียงทำให้เมื่อรับรายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ สามารถนำไปจ่ายส่วนรายจ่ายที่เป็นดอลลาร์สหรัฐได้โดยตรง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องบิน ค่าอะไหล่ ฯลฯ
    อย่างไรก็ตามทางบริษัทยังทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องปัจจุบันอยู่ที่ 50-70% ขึ้นอยู่กับช่วงโอกาสและเวลา
  • มองว่าผลกระทบการใช้มาตรฐานทางบัญชีใหม่ “IFRS16” ในปี 2563 จะทำให้งบการเงินต้องแสดงตัวเลขต่างๆ มากขึ้น อาจทำให้ D/E Ratio (อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) เพิ่มสูงขึ้น แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก แต่บริษัทต้องเตรียมตัวสื่อสารกับผู้ถือหุ้นอย่างใกล้ชิด

สรุป

ธุรกิจไหนผู้เล่นในตลาดเยอะ การแข่งขันก็สูงตามโดยเฉพาะสายการบินหน้าใหม่นอกเพิ่มเส้นทางบินให้เยอะขึ้น ยังหั่นราคาตั๋วแข่งกันอีก บางกอกแอร์เวย์ส ที่ไม่เน้นหั่นราคาเพราะไม่อยากขาดทุนเลยต้องหันหารายได้ทางอื่น ซึ่งในไทย Dutyfree ยังไม่มีคู่แข่งเยอะเหมือนประเทศอื่นถ้าไม่เข้าตอนนี้ อนาคตอาจไม่มีตลาดให้เล่นแล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา