โครงการ 1.4 หมื่นล้าน! บี.กริม บริษัทไทยสร้างโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใหญ่สุดในอาเซียน ตั้งที่เวียดนาม

เตรียมพบกับโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ลงทุนโดยบริษัทไฟฟ้าไทยรายใหญ่ ตั้งในประเทศเวียดนาม มูลค่าการลงทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เวียดนาม บี.กริม
photo: Shutterstock

ใหญ่สุดในอาเซียน มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ตั้งที่เวียดนาม

บี.กริม บริษัทไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยจับมือกับ Xuan Cau บริษัทก่อสร้างของเวียดนามเพื่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 420 เมกะวัตต์ โดยจะใช้เงินลงทุนกว่า 420 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ถือเป็นโรงงานพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

  • โรงงานแห่งนี้จะตั้งอยู่ที่จังหวัดเต็ยนิญ (Tây Ninh) ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม

การร่วมทุนกันของ 2 บริษัทตามสัญญาจะร่วมกันลงทุนในส่วนงานวิศวกรรมและการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนการลงทุนด้านอื่นๆ จะระดมทุนเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินในท้องถิ่นและต่างประเทศ

  • ปรียนาถ สุนทรวาทะ ซีอีโอของบี.กริม บอกว่า โรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้จะพร้อมให้บริการในเชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายนปี 2019

บี.กริม คาดว่า การตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงงานแสงอาทิตย์ครั้งนี้จะทำเงินให้กับบริษัทเป็นสัดส่วนถึง 30% ในปี 2022 นอกจากนั้นยังตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีเดียวกัน บี.กริมจะมีโรงงานไฟฟ้าถึง 53 แห่ง และจะผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังสูงถึง 2,938 เมกะวัตต์ แต่ทว่าการจะทำเช่นนั้นได้ บี.กริมต้องไปตั้งโรงงานไฟฟ้าเพิ่มในอีกหลายแห่งในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและเวียดนาม รวมถึงในประเทศไทยด้วย

ภาพการลงนามสัญญาโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยบี.กริมและบริษัทเวียดนาม และมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมด้วย
ภาพการลงนามสัญญาโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยบี.กริมและบริษัทเวียดนาม และมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมด้วย

ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บี.กริมมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 722 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 622 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บี.กริมยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานไฟฟ้าในเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยกับ Korea Electric Power Corporation หรือ KEPCO เพื่อจะพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งขนาด 100 เมกะวัตต์ โดยข้อมูลที่ได้ล่าสุดคือ จะเป็นการถือหุ้นของบี.กริม 55% ส่วนบริษัทเกาหลีใต้อยู่ที่ 45%

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา