อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ที่เติบโตรวดเร็วในไทยช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ญี่ปุ่นย้ายฐานมาผลิตในไทย เสริมด้วยนโยบายรถคันแรก แต่หลังโควิด อุตสาหกรรมกลับฟื้นตัวได้ช้า ยอดขายหดตัว แล้วอย่างนี้จะไปทางไหนต่อดี
อุตสาหกรรมยานยนต์เรียกได้ว่าเติบโตพุ่งสูง ในช่วงนโยบายรถคันแรก ยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านคันต่อปี ในปี 2011-2012 ต่อมาเมื่อมีผลสะท้อนของการปลดล็อกเงื่อนไขนโยบายรถคันแรก ยอดขายก็ขึ้นไปแตะ 1.1 ล้านตันต่อปีอีกในปี 2017-2019 เทียบกับปีก่อนหน้านั้นที่ขายได้ 7.8 แสนคัน
แต่หลังจากช่วงโควิดที่เกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน ตลาดรถยนต์กลับฟื้นตัวได้ช้า จนมาถึงครึ่งแรกของปีนี้ ยอดขาย 5 เดือนแรกกลับหดตัวอย่างหนักที่ 23.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ttb analytics ได้วิเคราะห์ว่าปี 2024 นี้มีแนวโน้มที่ยอดขายรถยนต์ในไทยจะหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี และอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับเดิมกับช่วงก่อนโควิด-19 ได้
ก่อนที่จะไปถึง 5 เมกะเทรนด์ตลาดยานยนต์ เราไปดูที่มีที่ไปก่อนดีกว่าว่าอะไรทำให้ ttb analytics คาดการณ์อย่างนั้น
ตลาดรถยนต์กำลังเจอปัญหาเชิงโครงสร้าง
ttb analytics ให้ข้อมูลว่า การชะลอตัวขอความต้องการซื้อรถยนต์มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 5 ข้อด้วยกัน
ตลาดรถยนต์ในประเทศอิ่มตัว ตอนนี้ประเทศไทยมีรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนทั่วประเทศเกือบ 20 ล้านคัน ตัวเลขรถยนต์นำหน้าเพื่อนบ้านไปไกล เพราะหากเทียบประชากร 1,000 คน
- ไทยมีรถยนต์ 277 คัน
- เวียดนาม 50 คัน
- ฟิลิปปินส์ 32 คัน
- อินโดนีเซีย 78 คัน
คนไทยยังใช้รถยนต์ค่อนข้างนาน เฉลี่ย 12 ปี เทียบกับประเทศอื่นที่ใช้อยู่ประมาณ 6–8 ปี ทำให้คนไทยไม่ค่อยซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อมาแทนรถยนต์คันเก่า
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป การที่รถยนต์ไฟฟ้าของจีนบุกตลาดยานยนต์ ทำให้บรรดาบริษัทรถยนต์ตั้งราคากันต่ำลงจากเดิม ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น บางคนยังเลื่อนการซื้อรถยนต์ออกไปก่อนจนกว่าจะเจอราคาที่ถูกใจ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ยังนิยมเช่ารถยนต์มากกว่าซื้อเพื่อความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตและลดภาระค่าใช้จ่าย
ประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ ไทยอยู่ในภาวะ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) และกำลังจะขยับเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) ที่หมายถึงว่าสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีจะมีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ในอีกไม่ถึง 10 ปี ขณะที่ประชากรวัย 25-49 ปีที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของตลาดรถยนต์จะมีจำนวนน้อยลงต่อเนื่อง จาก 40% ของประชากรทั้งหมดในปี 2010 คาดว่าจะเหลือแค่เพียง 33.2% ในปี 2030
เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตช้าลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงนี้มาจากการบริโภคที่ขยายตัวได้ดีและภาคบริการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่การลงทุนโดยรวมยังต่ำและต่ำมาเป็นเวลานาน ภาคการผลิตและส่งออกเจอปัญหาเชิงโครงสร้างแรงขึ้น ไทยแข่งขันได้น้อยลงในตลาดที่มีสินค้าราคาถูกส่งตรงจากจีน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อของผู้บริโภค
หนี้ครัวเรือนสูงเพิ่มข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ ตอนนี้หนี้ครัวเรือนไทยคิดเป็น 90% ของ GDP เกินกว่าระดับที่เหมาะสมที่ 80% และสูงกว่าประเทศอื่นที่มี GDP ต่อหัวใกล้เคียงกัน ความพยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเลยทำให้สถาบันการเงินมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยมากขึ้น เห็นจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงินหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาสในช่วงที่ผ่านมา
และแม้ว่าสถาบันการเงินจะเริ่มผ่อนคลายการให้สินเชื่อบ้างแล้ว แต่ยังมีความกังวลเรื่องการเสื่อมมูลค่าของรถยนต์ทำให้ในอนาคตหนี้อาจด้อยคุณภาพลง สถาบันการเงินยังรัดกุมเรื่องเงื่อนไขสัญญากู้และมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้วย
นอกจากทั้ง 5 เรื่องนี้ ห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ไทยก็ยังน่าเป็นห่วงเพราะการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นหลักใหญ่ใจความของการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม
มาดูกันว่าในอนาคตตลาดยานยนต์จะเป็นยังไงกันบ้าง
5 เมกะเทรนด์ตลาดยานยนต์
ผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมแบรนด์รองจะแข่งขันได้ยากขึ้น
เพราะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสามารถทำกลยุทธ์ราคาที่ยืดหยุ่นได้มากกว่าจากเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนแบตเตอรี่ ต้นทุนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ลดความซับซ้อนในกระบวนการผลิตทำให้สามารถทำได้ครบตั้งแต่ต้นจนจบแบบเสร็จสรรพ ตรงข้ามกับผู้ผลิตรถยนต์รุ่นเก่าที่หลายแบรนด์ยังพึ่งพาการผลิตชิ้นส่วนจากภายนอก ทำให้ราคายืดหยุ่นได้น้อยกว่า พอต้องปรับราคารถยนต์ลงเพื่อแข่งขันในตลาด ผู้แข่งขันรายรองที่ยอดขายน้อยอยู่แล้วก็จะทำอัตรากำไรได้น้อยลงอีก
ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นจะมุ่งพัฒนารถยนต์ไฮบริดต่อไป
บริษัทญี่ปุ่นปรับตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับบริษัทรถยนต์จากจีนและน่าจะยังมุ่งวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฮบริดที่เป็นจุดแข็งในหมู่ลูกค้าเก่าและตลาดใหม่ที่ยังคุ้นชินกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) อยู่ อีกจุดหนึ่ง คือ ล่าสุดบริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นที่พัฒนาเครื่องยนต์ไฮบริดที่สามารถใช้เชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutral Fuels) เช่น เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (Synthetic Fuels) และเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวภายในปี 2030
แบรนด์รถพรีเมี่ยมจะพัฒนาระบบซอฟต์แวร์มากขึ้น
การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมหลายเจ้าเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้สามารถไปสู่เป้าหมายการกล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero ให้ได้ ทำให้ช่วงหลัง ผู้ผลิตยานยนต์ในยุโรปหันไปจับมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมไอทีเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์และเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ เป็นหนทางสร้างรายได้ทางใหม่อย่างการอัปเดทซอฟต์แวร์และเฟิร์มแวร์ รวมทั้งเทคโนโลยียังช่วยให้เก็บข้อมูลพฤติกรรมและตำแหน่งการใช้รถยนต์แล้วไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นได้ด้วย
เทคโนโลยีผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV จะเข้ามาทำให้เทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่ (Battery Swapping) ชะงักไป
เพราะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากำลังหาวิธีลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่และทำให้ชาร์จได้รวดเร็วขึ้น ขณะที่แร่ลิเธียมไอออนที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV ยังมีอุปทานส่วนเกินสูง ทำให้ราคาขายแบตเตอรี่ลดลงมากกว่า 1 ใน 3 ในระยะเวลาแค่ 2 ปี และมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อเนื่อง ทำให้ความจำเป็นที่ผู้ขับขี่ต้องสลับแบตเตอรี่ในเวลาเร่งด่วนลดลง ประกอบกับสถานีให้บริการสลับแบตเตอรี่ยังมีต้นทุนสูง ยังต้องวิจัยและพัฒนาต่อจากผู้ผลิตรถยนต์ ขณะที่ผู้เล่นนอกตลาดก็สามารถให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้
ผู้ให้บริการเช่ารถยนต์ EV อาจได้ไม่คุ้มเสีย
ถึงการใช้รถยนต์ EV จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง แต่ผู้ให้เช่ารถยนต์ EV ยังมีภาระค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่ายางล้อ ค่าประกันรถ ค่าดูแลรักษา ค่าภาษี โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้บริการเช่าระยะยาวเพราะลูกค้าจะใช้งานหนักกว่ารูปแบบการใช้งานทั่วไป 4-5 เท่า ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพลดลง มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนหากขายต่อหลังหมดสัญญาเช่าได้มากกว่ารถยนต์ EV ที่ใช้งานทั่วไป
สรุปได้ว่า 5 เมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของวงการยานยนต์มีความเกี่ยวข้องกับการเข้ามาของรถยนต์ EV อย่างมาก ทำให้การแข่งขันในตลาดเข้มข้นมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์เลยต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จาก 5 ข้อนี้ ทำให้ ttb analytics แนะนำให้ผู้ประกอบการยานยนต์เร่ง “ปรับ” ก่อน (ถูก) “เปลี่ยน”
ที่มา – ttb analytics
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา