คุยกับผู้บริหาร Autobot แบรนด์หุ่นยนต์ดูดฝุ่นสัญชาติไทย ที่ตั้งเป้าหมายเป็นเทคคอมพานี

รู้จักกับโรบอท เมคเกอร์ บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Autobot ที่ไม่ได้ต้องการผลิตเพียงหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเพียงอย่างเดียวแต่ต้องการเป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย

ปัจจุบันกระแสการตกแต่ง ดูแลบ้าน ทำให้บ้านน่าอยู่กำลังมาแรง จากความจำเป็นในการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด โดยหนึ่งในสิ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานี้ นอกจากต้นไม้ฟอกอากาศ ยังมีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ขายดีเช่นเดียวกัน

โดยตลาดหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในประเทศไทย มีผู้เล่นหลักๆ อยู่เพียงไม่กี่ราย เช่น Xiaomi, iRobot, Mister Robot, Ecovac และ Autobot ซึ่งในกลุ่มผู้เล่นหลักๆ นี้ มีเพียง Mister Robot และ Autobot ที่เป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบรนด์ไทย

ธรรมสร มีรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท เมคเกอร์ จำกัด

คุยเรื่องตลาดหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไทย กับผู้บริหาร Autobot

Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ธรรมสร มีรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท เมคเกอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายหุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบรนด์ Autobot ถึงสภาพตลาดหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในประเทศไทย

ธรรมสร เล่าว่า ปัจจุบันตลาดหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในประเทศไทยมีมูลค่าระดับพันล้านบาท โดยเติบโตปีละ 20-30% ตามการเติบโตของตลาดโลก โดยในขณะนี้ผู้เล่นรายหลักๆ ในไทย ได้แก่ Xiaomi, Ecovac, iRobot, Mister Robot และ Autobot

เน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์

โดย Autobot เอง มีส่วนแบ่งการตลาดใน Shopee เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ขายดีที่สุดอันดับ 1 และมีสัดส่วนการขายที่เน้นช่องทางออนไลน์เป็นหลักในสัดส่วน ช่องทางออนไลน์ 80% และออฟไลน์อีก 20% ผ่านหน้าร้านที่มีเพียง 4 แห่งในประเทศ

สำหรับแบรนด์ Autobot ธรรมสร เล่าว่า เป็นแบรนด์ที่มีอายุราวๆ 8 ปี แล้ว โดยเริ่มจากการนำเข้าหุ่นยนต์ดูดจากต่างประเทศเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยก่อน แต่ตอนนี้ Autobot เปลี่ยนกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่เป็นการออกแบบ และดีไซน์หุ่นยนต์ดูดฝุ่นด้วยตัวเอง โดยมีวิศวกรหุ่นยนต์ชาวไทยเป็นผู้ออกแบบ ก่อนจะสั่งให้โรงงานในต่างประเทศผลิต

ซึ่งโรงงานในต่างประเทศที่ Autobot จ้างผลิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตามการออกแบบ มีทั้งโรงงานในประเทศจีน เกาหลี และไต้หวัน

สำหรับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบรนด์ Autobot มีให้เลือกหลากหลายราคา ตั้งแต่ 3 พันบาท ไปจนถึง 3 หมื่นบาท โดยหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่คนนิยมซื้อมากที่สุดยังเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในกลุ่มราคาถูก มากกว่ารุ่นราคาแพง ทำให้ยอดขายในปี 2563 อยู่ที่ 200 ล้านบาท เติบโต 50% จากปี 2562 และโดยเฉลี่ยแล้ว Autobot มียอดขายจากหุ่นยนต์ดูดฝุ่นราว 20,000 เครื่องต่อปี

ตั้งเป้าหมายเติบโต 2 เท่า ในปี 2564

ส่วนเป้าหมายในปี 2564 นี้ Autobot ต้องการเติบโตให้ได้ 2 เท่า ของปี 2563 อย่างไรก็ตามการขายหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถทำให้ยอดขายเติบโตได้มากนัก เพราะในปัจจุบันตลาดหุ่นยนต์ดูดฝุ่นยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นปก ที่มีตลาดใหญ่กว่ามาก

Autobot จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจใหม่ ไม่ได้ขายหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Autobot Storm 3

เปลี่ยนกลยุทธ์สร้าง Ecosystem ไม่ได้ขายหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอย่างเดียว

โดย Autobot ต้องการขยายกลุ่มของสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นมีสัดส่วนราว 70% ของยอดขาย โดย Autobot จะมีการเพิ่มสินค้าในกลุ่ม AIoT มากขึ้น เช่น Smart Switch, Digital Door Lock, เครื่องชงกาแฟ เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องอบรองเท้าเป็นต้น ซึ่งทุกๆ สินค้าของ Autobot จะต้องควบคุมได้ผ่านแอปพลิเคชันของ Autobot เอง

ปัจจัยที่ทำให้ Autobot ไม่ได้อยากจะเป็นเพียงบริษัทที่ผลิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เป็นเพราะ ต้องการสร้าง Ecosystem ในทุกๆ ห้องของบ้าน รวมถึงสินค้า AIoT เป็นสินค้าที่ไมได้ซื้อครั้งเดียวแล้วจบ แต่ต้องมีการพัฒนาต่อ โดยสิ่งที่ Autobot จะได้ คือข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร รู้ว่าต้องพัฒนาสินค้าต่ออย่างไร เป็นการนำข้อมูลไปต่อยอดได้

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ในการสร้าง Ecosystem ของ Autobot นี้ ก็เหมือนๆ กับที่ Xiaomi กำลังทำอยู่ และอย่าลืมว่า Xiaomi เองก็มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในแบรนด์ Roborock และอุปกรณ์ AIoT ต่างๆ เช่นเดียวกัน แต่ ธรรมสรเล่าว่า ความแตกต่างของ Xiaomi กับ Autobot คือ Xiaomi จะเน้นทำสินค้า คุณภาพดี ดีไซน์สวย ในราคาที่ถูก แต่ลูกค้าจะต้องมีความรู้ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ Autobot จะเน้นความง่าย และมีบริการหลังการขาย ลูกค้าสามารถแชทไลน์หาพนักงานได้เลย

นอกจากสินค้าในกลุ่ม AIoT แล้ว ในปีนี้ Autobot ยังมีแผนที่จะเปิดตัวหุ่นยนต์ทำความสะอาดห้องน้ำอัตโนมัติ โดยเป็นการพัฒนาโดย Autobot เอง จาก Pain Point ว่าการใช้ห้องน้ำในประเทศไทย ไม่ได้แยกส่วนเปียกส่วนแห้งแบบประเทศอื่นๆ เราจึงไม่เคยเห็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดห้องน้ำในประเทศอื่นๆ มาก่อน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา