ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย จับมือด้าน Supply Chain เตรียมชวนประเทศในอาเซียนเข้าร่วม ลดการพึ่งพาจากจีน

ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย ได้เตรียมจัดตั้งความร่วมมือด้าน Supply Chain เพื่อที่จะลดอำนาจต่อรองจากจีน นอกจากนี้กลุ่มความร่วมมือดังกล่าวเตรียมจะชักชวนประเทศในอาเซียนเข้าร่วมด้วย

Australia Port ท่าเรือ ออสเตรเลีย
ภาพจาก Shutterstock

รัฐบาลของ 3 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย จับมือร่วมกันด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในความร่วมมือที่มีชื่อว่า “Supply Chain Resilience Initiative” เพื่อจะลดการพึ่งพาจากจีน ลดผลกระทบจากการหยุดชะงักถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้าหลากหลายชนิดทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

ความร่วมมือดังกล่าวนั้นมาจากรัฐมนตรีจากด้านการค้าของญี่ปุ่น ที่ได้ชักชวนอินเดียและออสเตรเลียเข้าร่วม ฝั่งของอินเดียเองก็เห็นชอบในความร่วมมือดังกล่าวเพื่อที่จะลดอำนาจของจีนในด้านการผลิตลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียในพื้นที่ชายแดน ขณะที่ออสเตรเลียเองก็ต้องการที่จะลดสัดส่วนรายได้ของประเทศที่มาจากจีนเป็นหลัก ด้านญี่ปุ่นนั้นในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจากจีนทำให้การผลิตต้องหยุดชะงักลง

ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีของออสเตรเลียและอินเดียเองเคยมีการหารือเรื่อง Supply Chain โดยเน้นไปยังเรื่องของการ
กระจายการผลิตให้มากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นออสเตรเลียเองก็ต้องการให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในภูมิภาค
อินโด-แปซิฟิกเพิ่มมากขึ้น

หลังจากนี้รัฐมนตรีด้านการค้าของ 3 ประเทศจะมีการร่วมประชุมกันในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้ และจะมีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือดังกล่าวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ยังคาดว่ากลุ่มความร่วมมือดังกล่าวจะมีการชักชวนประเทศในอาเซียนเข้าร่วมกลุ่มด้วย

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าทำให้บริษัทจากต่างชาติที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนเองเริ่มที่จะกังวลถึงความคุ้มค่าในการตั้งฐานการผลิตจากหลายปัจจัย เช่น ภาษีที่อาจโดนสหรัฐเก็บเพิ่ม ค่าแรงในจีนที่เพิ่มสูงมากขึ้น ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อ Supply Chain แก่ประเทศอื่นๆ ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิต รวมไปถึงลดการพึ่งพาจีนในฐานะโรงงานของโลก

ที่มา – Economic Times, Business-Standard

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ