ตอนนี้กระแสเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800MHz กำลังเป็นที่พูดถึงกันพอสมควร มีหลายคนที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด และหลายคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจ
อธิบายแบบสั้นที่สุดคือ สัมปทานของ dtac กำลังจะหมดอายุ 15 ก.ย. 2561 (ปีหน้า) ดังนั้น กสทช. หน่วยงานกำกับดูแลด้านนี้ ต้องทำหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมการประมูลให้เสร็จก่อนสัมปทานจะหมดอายุ และส่งมอบคลื่นความถี่ 900 และ 1800 ให้กับผู้ชนะการประมูลคนใหม่
หลักเกณฑ์เบื้องต้น สำหรับคลื่น 900 มีประมูล 1 ชุดขนาด 5MHz ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท อายุใบอนุญาต 15 ปี ขณะที่คลื่น 1800 มีประมูล 3 ชุด ขนาด 15MHz รวมเป็น 3×15 ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท อายุใบอนุญาต 15 ปี โดยคาดว่าจะจัดการประมูลได้ช่วงกลางปี 61 เพื่อให้ทันสัมปทานเดิมหมดอายุ โดยใช้สูตร N-1
คำถามคือ จากรายละเอียดเบื้องต้นดังกล่าว ใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์บ้าง
dtac ยอมรับมีผลกระทบโดยตรง แต่ศึกษารอบด้าน
นฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ ของ dtac บอกว่า การประมูลครั้งนี้ dtac เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างชัดเจนที่สุด เพราะสัมปทานที่จะหมดลง ทำให้ dtac สูญเสียคลื่นความถี่ในมือ (900 และ 1800 เหลือเพียง 2100 ขนาด 15MHz) แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ และมีความเป็นกลางมากที่สุด dtac ได้ว่าจ้าง NERA บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกที่เชี่ยวชาญและวิเคราะห์ พร้อมทั้งออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ทั่วโลกทั้ง เอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา
เป้าหมายของ dtac ต้องการให้มีการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เป็นอิสระ โดย dtac ไม่มีส่วนร่วมใดๆ กับผลการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งจากการศึกษาได้ข้อสรุปเป็น White Paper ในหัวข้อว่า “ความเสี่ยงจากการประมูลคลื่นความถี่ทำให้ประเทศไทยประสบกับการใช้งานดาต้าที่ช้า” และจะนำเสนอต่อ กสทช. เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดการประมูล
NERA เสนอแนะ 4 ประเด็นกับการประมูลคลื่นของไทย
ฮานส์ อีลเล (Hans-Martin Ihle) ที่ปรึกษาอาวุโสประจำสำนักงาน NERA ได้สรุปผลการวิจัยเป็น 4 ข้อเสนอแนะต่อ กสทช. ดังนี้
1. ยกเลิกสูตร N-1 จุดประสงค์ของสูตร N-1 คือเพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูล (มีคลื่นน้อยกว่าผู้ประมูล) แต่กรณีนี้เท่ากับว่า คลื่น 1800 ที่มี 3 ชุด แต่ถ้ามีผู้เข้าร่วม 3 ราย (AIS, dtac, True) กสทช. จะนำคลื่นมาประมูลเพียง 2 ชุด เก็บอีกชุดนึงไว้
ขณะที่ปัจจุบัน ไทยมีการนำคลื่นออกมาใช้งานในโทรคมนาคม 320MHz น้อยกว่ามาเลเซีย, เมียนมาร์ และกลุ่มประเทศยุโรป โดยที่ปริมาณคลื่นที่ใช้มีความจำเป็นในการพัฒนาประเทศยุคดิจิทัล การใช้ 4G และ 5G แบบเต็มรูปแบบ ถ้ามีคลื่นถูกเก็บไว้ ไม่นำออกมาใช้ เท่ากับว่า ไทยจะลดปริมาณคลื่นที่ใช้งานลงอีก ดังนั้นจึงควรยกเลิกสูตรนี้
2. ราคาเริ่มต้นประมูลสูงเกินไป ปัจจุบันราคาเริ่มต้นที่ กสทช. กำหนด อยู่ที่ประมาณ 37,000 ล้านบาท ทั้งคลื่น 900 และ 1800 ในแต่ละสล็อต ส่งผลให้ คลื่น 900 ที่ขนาด 5MHz ไทยคือประเทศที่กำหนดราคาเริ่มต้นไว้สูงที่สุดในโลก ส่วนคลื่น 1800 ที่ขนาด 15MHz ไทยคือประเทศที่กำหนดราคาเริ่มต้นสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
ผลที่ตามมาของราคาที่สูงเกินไป อาจทำให้ไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีคนเข้าร่วมประมูล คลื่นก็ไม่ถูกนำไปใช้ ดังนั้นทางออกคือ ศึกษาราคาเริ่มต้นที่เหมาะสม และให้ตลาดกับการแข่งขันเป็นตัวตัดสินว่าราคาจะเป็นเท่าไร
3. ลดขนาดคลื่นความถี่ในการประมูล การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ NERA เสนอว่าควรกำหนดขนาดคลื่นความถี่ในการประมูลให้เล็กลง เช่น คลื่น 1800 กำหนดไว้ 3×15 ชุด ให้ลดลงเหลือ 9×5 ชุด (5MHz 9 ชุด) กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันได้มากกว่า
4. ไทยควรมีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ถึงปัจจุบันไทยยังไม่มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ไม่เคยมีการกำหนดแผนล่วงหน้าว่าคลื่นความถี่ใดจะถูกนำออกมาจัดสรรบ้าง ทำให้เอกชนไม่สามารถวางแผนการลงทุน ประเทศชาติก็ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ อย่างน้อยในระยะเวลา 5 ปี ต้องสามารถบอกได้ว่าจะมีคลื่นอะไรออกมาบ้าง เช่น 700, 2300 และ 2600 และควรจัดประมูลล่วงหน้าด้วยก่อนอายุใบอนุญาตหรือสัมปทานเดิมจะหมด
ราคาประมูลคลื่นแพง ผลเสียที่คาดไม่ถึง
นอกจากข้อเสนอแนะทั้ง 4 แล้ว NERA ยังระบุด้วยว่า การประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาสูงเกินไป อาจมีผลดีในระยะสั้น คือประเทศมีเงินรายได้เข้าคลัง แต่ในระยะกลางและระยะยาวอาจเกิดผลเสีย
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ มีการขยายเสาสัญญาณให้บริการโทรคมนาคมครอบคลุมมาก แต่ความเร็วไม่ได้ แปลว่ามี Quantity แต่ไม่มี Quality เพราะคลื่นมีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้มีการใช้คลื่นเพิ่มมากขึ้น
การตั้งราคาสูง จะเกิดผลกระทบกับการแข่งขันประมูล กระทบการลงทุน เมื่อใช้เงินประมูลมาก เงินลงทุนก็จะลดลง และกระทบกับผู้บริโภค คือ คุณภาพบริการก็ไม่ดี และค่าบริการที่ควรถูกลงก็ไม่ถูก หรือลดปริมาณอินเทอร์เน็ตลง
สรุป
ข้อเสนอจาก NERA เป็นการศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ กสทช. ควรรับฟัง และศึกษาทบทวน คลื่น 900 ขนาด 5MHz แต่ราคาสูงที่สุดในโลก ใช่คำตอบสำหรับไทยหรือไม่ คลื่น 1800 ที่หาก AIS หรือ True ไม่เข้าร่วม อาจทำให้คลื่นไม่ถูกนำออกมาใช้งาน และด้วยราคาเริ่มต้นที่สูงเกินไป ควรศึกษาเพื่อกำหนดใหม่ให้เหมาะสม และปล่อยให้เกิดการแข่งขันในการประมูลแทน ทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของ กสทช.
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา