หลังจากอภิมหาดีลมูลค่ากว่า 85,000 ล้านดอลลาร์ ที่ AT&T (เอทีแอนด์ที) เข้าซื้อกิจการของ Time Warner (ไทม์ วอร์เนอร์) ซึ่ง Brand Inside นำเสนอไปแล้ว คลิกอ่านที่นี่ เรียกว่าไม่รอช้า ปล่อยระเบิดลูกแรกทันทีด้วยโปรแกรม streaming TV ในชื่อ DirecTV Now จัดใหญ่ 100 ช่องกับค่าบริการ 35 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,200 บาทต่อเดือน
Randall Stephenson ซีอีโอของ AT&T บอกว่า แพ็คเกจ DirecTV Now ค่าบริการ 35 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็นบริการที่มากับ mobile data แบบไม่จำกัดเฉพาะการดูทีวี ซึ่งเป็นจุดแข็งของ AT&T ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมอยู่แล้ว
และจะเริ่มต้นให้บริการในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้
สำหรับ DirecTV Now เป็นบริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องใช้สายเคเบิล หรือ จานดาวเทียม มีกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น คือ คน 20 ล้านคนในอเมริกาที่ไม่ใช้ pay TV แต่ในอนาคต DirecTV Now มีเป้าที่จะเป็นแพลตฟอร์มทีวีหลักในปี 2563
ตัดราคาได้ ต้นทุนต่ำกว่า
ด้านการคิดค่าบริการ 35 ดอลลาร์ต่อเดือน เรียกได้ว่ามา “ตัดราคา” ผู้ให้บริการเดิมในตลาด เพราะไม่มีต้นทุนด้านอุปกรณ์ หรือจานดาวเทียม และยังไม่มีการผูกสัญญารายปีกับลูกค้าด้วย โดยผู้นำตลาดอย่าง Sling TV คิดค่าบริการ 20 ดอลลาร์ สำหรับ 25+ ช่อง และมีแพ็คเกจสูงสุดคือ 40 ดอลลาร์ สำหรับ 50 ช่อง ขณะที่ Sony’s Playstation Vue คิดค่าบริการ 54.99 ดอลลาร์สำหรับ 100 ช่อง หรือจะเลือกที่เล็กลงมา 39.99 ดอลลาร์ สำหรับ 60+ ช่อง
ส่วน Hulu หรือ Youtube ก็ประกาศว่าพร้อมจะเข้ามาทำตลาดแข่งขัน streaming TV เช่นเดียวกัน แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใด
บริการ DirecTV Now จะให้บริการผ่านโครงข่าย 5G ของ AT&T และจากการซื้อกิจการ Time Warner จะทำให้ DirecTV Now มีคอนเทนต์ช่องต่างๆ เช่น Time Warner, NBCUniversal, Fox, Disney, HBO, CNN และ Warner Brothers
สรุป
AT&T ใช้จุดเด่นของการควบรวมและต้นทุนที่ต่ำกว่า จัดแพ็คเกจบริการ 100 ช่องในราคาที่ถูกกว่า เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า มีช่องให้เลือกมากกว่า ทั้งที่ความจริงแล้วผู้บริโภคอาจจะดูทีวีเป็นประจำไม่กี่ช่อง นี่คือ การสร้างตัวเปรียบเทียบให้เห็น แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญกว่าคือ คอนเทนต์ ในช่องตรงใจผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งเมื่อดูจากช่องที่ AT&T มีแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า มีพลังมากพอที่จะดึงดูดใจคนดูได้ด้วย
จริงอยู่ว่า พฤติกรรมการดูทีวีของอเมริกันชน และคนไทย อาจจะแตกต่างกัน แต่ดูแนวโน้มของธุรกิจแล้ว ในไทยก็มีโอกาสเกิดการควบรวมกิจการในลักษณะนี้ได้เช่นกัน เพราะหนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมคือ True มีครบอยู่แล้ว และ AIS ก็จับมือพันธมิตรกับผู้สร้างคอนเทนต์หลายราย เมื่อโทรคมนาคม เป็นแค่ “ท่อ” สิ่งที่สร้างมูลค่าคือ คอนเทนต์ มารอดูว่า จะเห็นการควบรวมหรือร่วมมืออะไรอีกบ้าง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา