การใช้เงินสดยังคงเป็นกระแสหลักของคนญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาหรือจีน ยอดการใช้เงินสดในญี่ปุ่นสูงกว่าประมาณ 2-3 เท่า คำถามคือญี่ปุ่นจะรับมือกับกระแส e-payment ได้ทันหรือไม่ อีกอย่างปีหน้ายักษ์ใหญ่จีนก็เตรียมเข้าไปทำตลาดด้วย
คนญี่ปุ่น กับตู้ ATM และเงินสด : ที่ยังแยกออกจากกันไม่ได้
แม้ว่ากระแสสังคมไร้เงินสดจะแพร่กระจายในหลายที่ทั่วโลก แต่ในญี่ปุ่นผู้คนยังนิยมใช้เงินสดใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกันอยู่ ล่าสุดปีนี้ ธนาคารแห่งเกียวโต (Bank of Kyoto) ได้เปิดตัวตู้ ATM เคลื่อนที่ออกไป เป็นการกระตุ้นให้คนยิ่งมีโอกาสใช้เงินสดได้มากขึ้น จากแต่เดิมที่ตู้ ATM จะอยู่ตามสถานที่อย่างร้านสะดวกซื้อ
สถิติของ Euromonitor เปิดเผยถึงการใช้ “เงินสด” ในการชำระเงิน เปรียบเทียบ 3 ประเทศ
- ญี่ปุ่นยังใช้เงินสดคิดเป็น 62% ส่วนจีนอยู่ที่ 38% และสหรัฐอเมริกา 23% หรือพูดอีกอย่างได้ว่า อัตราการใช้เงินสดชำระเงินในญี่ปุ่นสูงกว่าจีน 2 เท่า และสูงกว่าสหรัฐอเมริกา 3 เท่า ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่สัดส่วนตัวเลขที่ดีต่อการก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างแน่นอน
Mobile Payment ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เบื้องหลังคือข้อมูลมหาศาล ภาครัฐญี่ปุ่นอาจต้องใช้ไม้หนัก
ในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนผ่านทางการเงิน ภาครัฐพยายามอย่างมากที่จะขับเคลื่อน แต่ยังเป็นไปได้ยากอยู่ ในขณะที่ฟากของจีนมี 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba (Alipay) และ Tencent (WeChat Pay) หลังจากที่ได้แผ่ขยายสาขาไปในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย ก็มีข่าวว่าในปีหน้า 2018 Alibaba จะเข้าไปในทำตลาดญี่ปุ่น
คำถามคือ ญี่ปุ่นเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร?
การเปลี่ยนผ่านการชำระเงินเบื้องต้นที่นำโดย ภาครัฐของญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี Shinzō Abe ตั้งเป้าไว้ว่า จะเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินดิจิทัล คือ Mobile payment และบัตรเครดิตให้เพิ่มขึ้นเป็น 40% จาก 18% ภายใน 10 ปีนี้จากนี้
สิ่งที่สำคัญคือ ปัญหาเรื่องการเข้ามาของยักษ์ใหญ่ก็เรื่องหนึ่ง แต่การใช้จ่ายเงินมาพร้อมกับข้อมูลมหาศาล ถ้าญี่ปุ่นปรับตัวช้า ผู้คนยังใช้เงินสดกันสูงก็จะเป็นปัญหาใหญ่นอนาคตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสถาบันทางการเงินของญี่ปุ่น เพราะถ้าปรับตัวช้า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้บริโภค ข้อมูลทางการเงินที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำการตลาดต่างๆ จะตกไปอยู่กับบริษัทต่างประเทศที่เข้ามา
ด้านสถาบันวิจัย Nomura ของญี่ปุ่น ระบุว่า ในท้ายที่สุด ตลาด e-payment ของญี่ปุ่นจะเติบโตขึ้นแน่ แต่เมื่อถึงวันนั้นก็จะสูญเสียโอกาสในการเป็นผู้นำในตลาดไปแล้ว
ส่วนการจะเปลี่ยนให้สังคมญี่ปุ่นไปชำระเงินผ่านดิจิทัลนั้น อาจต้องใช้มาตรการที่มีบทลงโทษ เป็นต้นว่า หากใช้เงินสดในกรณีนี้จะต้องเพิ่มเงินส่วนต่าง หรือไม่ก็เสนอให้การจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัลได้รับส่วนลดในกรณีที่ใช้ขนส่งมวลชน
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การเปลี่ยนผ่านการชำระเงินของญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ๆ คือ ญี่ปุ่นไม่น่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาด e-payment ได้ในอนาคตอันใกล้
ที่มา – Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา