หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จจากการลงทุน คือ การเลือกลงทุนในบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความสามารถในการแข่งขัน มีความเสี่ยงทางการเงินต่ำ มีปัจจัยเร่งในการเติบโต และซื้อลงทุนในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดสำหรับการเลือกลงทุนที่บรรดาเซียนนักลงทุนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการค้นหาบริษัทน่าลงทุนจะมีวิธีการอย่างไรในการตัดสินใจ ต้องพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินอะไรประกอบบ้าง ผมได้ลองค้นหาข้อมูลใน Google แล้วไปพบกับ A.Stotz Investment Research ได้ทำการสรุปขั้นตอนง่ายๆ ในการคัดเลือกบริษัทที่น่าสนใจเอาไว้ เรามาดูกันเลย
ทำความรู้จักกับ A.Stotz Investment Research
A.Stotz Investment Research เริ่มก่อตั้งโดย Dr.Andrew Stotz, CFA ผู้มีประสบการณ์ในสายงานด้านการเงินการลงทุนมากว่า 20 ปี ผู้คร่ำหวอดในสายงานนักวิเคราะห์ ที่มีรายงานการวิเคราะห์กลยุทธ์ของบริษัทต่างๆ มากมาย เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายทีมวิจัยของ CLSA ประเทศไทยและเคยได้รับการโหวตให้เป็นนักวิเคราะห์หมายเลข 1 จาก Asiamoney Brokers Polls ในปี 2008-2009 และในปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานของ CFA Society Thailand ในปัจจุบัน A.Stotz investment research ให้คำแนะนำและบริการจัดพอร์ตการลงทุนในหุ้นทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยจะเน้นการวิเคราะห์บริษัทเชิงลึก และมีหุ้นที่ติดตามอยู่ประมาณ 7,500 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2014)
FVMR 4 องค์ประกอบในการค้นหาบริษัทน่าลงทุน
ค้นหาหุ้นที่น่าสนใจด้วย FVMR (Fundamental, Valuation, Momentum, Risk)
Fundamental: ปัจจัยพื้นฐานสามารถดูได้จากโครงสร้างและแนวโน้มการทำกำไรของบริษัท ซึ่งสะท้อนความสามารถของผู้บริหารในการจัดการทรัพยากรของบริษัท ในการพิจารณาปัจจัยพื้นฐานสามารถดูได้จากอัตราส่วนทางการเงิน เช่น ROA, ROE, ROIC, Net Margin เป็นต้น
Valuation: มูลค่าของกิจการที่ทำการประเมินจากตัวบริษัทเอง และมูลค่าในเชิงเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม เพื่อค้นหาและลงทุนในบริษัทพื้นฐานดีราคาไม่แพง โดยพิจารณาจาก PE, PBV, EV/EBITDA เป็นต้น
Momentum: มีปัจจัยเร่งที่ทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นหรือ กำลังเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อสร้างโอกาส ทำกำไรในหุ้นพื้นฐานดีราคาถูก และ ช่วยป้องกันไม่ให้ติดกับดักหุ้นประเภท ถูกเรื้อรัง โดยพิจารณาจาก Revenue Growth เป็นต้น
Risk: คัดกรองบริษัทที่มีความเสี่ยงทางการเงินต่ำ เพื่อให้พอร์ตการลงทุนไม่เสี่ยงจนเกินไป พอร์ตการลงทุนบางส่วนจะอยู่ในหุ้นปันผลเพื่อสร้างกระแสเงินสดในระยะยาว โดยพิจารณาจาก Current Ratio, Net Debt เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในการค้นหาบริษัทที่น่าลงทุน นอกจากพิจารณาจากปัจจัย FVMR ที่กล่าวมาแล้ว ผู้ลงทุนเอง ควรเลือกบริษัทที่มีสินค้าหรือบริการที่ครองส่วนแบ่งการตลาดและอัตราการเติบโตสูง (STAR) เพราะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจที่ดีกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
สำหรับท่านที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมฉบับเต็มสามารถเข้าไปที่ http://astotz.com/ จะพบกับงานวิจัยที่นำมาอ้างอิง ชื่อ How We Select Stocks Using FVMR ในส่วนข้อมูล Publication นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกด้วย
หลังจากทำการเลือกบริษัทที่น่าสนใจ ก็ถึงเวลาที่จะเข้าไปศึกษาบริษัทเหล่านั้นในเชิงลึก และนำไปสู่การจัดพอร์ต และปรับพอร์ตตามการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลแทนจากการลงทุนต่อไป เราจะเห็นได้ว่า กระบวนการ ขั้นตอนต่าง ๆ ผู้ลงทุนต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก ในประเทศไทย มีกองทุนที่ลงทุนโดยการประยุกต์ใช้หลักการที่ว่ามาในการลงทุนหรือไม่ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร วันนี้ Brand Inside ขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับกองทุนรวม ONE-STARS กองทุนที่เลือกหุ้นน่าสนใจโดยประยุกต์ใช้หลักการ FVMR
กองทุนเปิด วรรณ สตาร์ ซีเล็คชั่น ฟันด์ (ONE STAR SELECTION FUND): ONE-STARS
นโยบายการลงทุน: เป็นกองทุนรวมผสม โดยกองทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ และตราสารทางการเงินอื่น ๆโดยผู้จัดการกองทุนสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามสถานการณ์ที่เห็นสมควร
กลยุทธ์การลงทุน: ใช้นโยบายการลงทุนเชิงรุกโดยมุงหวังในการสร้างผลตอบแทนมากกว่าดัชนีชี้วัด โดยกองทุนจะทำการคัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจผ่านการประยุกต์ใช้ FVMR และทำการเลือกลงทุนในหุ้น 20 บริษัทแรกที่มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนสูง และทำการปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์
ค่าธรรมเนียม
พอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน
ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 กองทุนมีการลงทุนในหุ้น 85.43% โดยเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม อาหารและเครื่องดื่ม 21.58% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 13.74%
ผลการดำเนินงาน
กองทุน ONE-STARS ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุน (วันที่ 9 มิถุนายน 2557) จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559
ให้ผลตอบแทน -9.14% ต่ำกว่าผลการดำเนินงานของ SET Total Return Index: SET TRI (ผลตอบแทน SET Index เมื่อรวมปันผล) ที่สร้างผลตอบแทนได้ 9.54% หรือกล่าวได้ว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาแพ้ตลาด(SET TRI)มากถึง 18%
จากการดำเนินงานที่ไม่โดดเด่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้กองทุนนี้ได้รับเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนไม่มาก สังเกตได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2559 อยู่ที่ประมาณ 107.6 ล้านบาทเท่านั้น (ข้อมูลจาก FIN App) อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาการลงทุนที่ผ่านมาเพียง 2 ปีเศษ อาจยังไม่สามารถสรุปว่า หลักการคัดเลือกหุ้นน่าสนใจด้วย FVMR จะช่วยให้ผู้ลงทุนประสบความสำเร็จในระยะยาวได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการลงทุนไม่ได้มีเพียงแต่ปัจจัยพื้นฐานเท่านั้น หากท่านใดสนใจค้นหาข้อมูลประกอบการลงทุนท่านสามารถติดต่อ บลจ.วรรณ ได้โดยตรง
ในโอกาสต่อไป หากเราพบกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจอื่น ๆ เราจะนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้การลงทุนของท่านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อ้างอิง:
1.How We Select Stocks Using FVMR: http://www.slideshare.net/andrewstotz/how-we-select-stocks-using-fvmr
2.ONE-STARS Fund Fact Sheet 30 กันยายน 2559: https://www.one-asset.com/wp-content/uploads/2014/05/ONE-STARS_FS17.pdf
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา