เทรนด์นี้ต้องรู้ บริษัทในเอเชียจ้างผู้บริหารมาทำงานกันในอัตราค่าจ้างที่สูงมาก คิดแบบเฉลี่ยแล้วยังสูงกว่าประเทศในแถบตะวันตกด้วยซ้ำ จีนนำลิ่ว ตามด้วยเกาหลีใต้ ส่วนไทยก็ยังติดโผ
เปิดค่าจ้างผู้บริหารในบริษัทแถบเอเชีย
ในยุคที่สภาพแวดล้อมของธุรกิจได้เปลี่ยนไปมาก เพราะว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสูง ผู้บริหารที่เป็นหัวเรือของบริษัทจึงถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในบริษัท ดูได้จากหลายบริษัทในเอเชียที่จ้าง “ผู้บริหารฝีมือดี” มานั่งทำงานในอัตราเงินเดือนที่สูงมาก
จากการสำรวจของ Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ในสหรัฐอเมริกา ที่ไปศึกษาบริษัทกว่า 25,000 แห่ง ใน 125 ประเทศ (ในปีงบประมาณ 2016) ได้เปิดเผยข้อมูลการจ้างผู้บริหารมาทำงานในบริษัทของประเทศต่างๆ ดังนี้
- จีน : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 357,345 เหรียญ (ประมาณ 11,800,000 บาท)
- เกาหลีใต้ : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 266,029 เหรียญ (ประมาณ 8,800,00 บาท)
- เวียดนาม : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 244,972 เหรียญ (ประมาณ 8,100,000 บาท)
- ญี่ปุ่น : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 237,513 เหรียญ (ประมาณ 7,800,000 บาท)
- ไทย : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 211,451 เหรียญ (ประมาณ 7,000,000 บาท)
จะเห็นได้ว่าค่าจ้างผู้บริหารในเอเชียมีอัตราที่สูงมาก อย่างในจีนเฉลี่ยแล้วก็ตกเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท แต่ถ้าไปเทียบกับบริษัทในตะวันตกอย่างเยอรมัน ค่าจ้างผู้บริหารเฉลี่ยต่อปีแล้วอยู่ที่ 241,580 เหรียญ (ประมาณ 8,000,000 บาท) เท่านั้น หรือตกเดือนละ 670,000 บาทเท่านั้น
ส่วนถ้าเป็นในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ค่าจ้างสูงสุดไปตกอยู่ที่สิงคโปร์ ดังนี้
- สิงคโปร์ : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 210,923 เหรียญ (ประมาณ 7,000,000 บาท)
- จีน : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 204,561 เหรียญ (ประมาณ 6,800,000 บาท)
- ญี่ปุ่น : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 173,412 เหรียญ (ประมาณ 5,700,000 บาท)
- เกาหลีใต้ : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 160,352 เหรียญ (ประมาณ 5,300,000 บาท)
- เวียดนาม : ค่าจ้างเฉลี่ยปีละ 131,785 เหรียญ (ประมาณ 4,300,000 บาท)
แต่ถ้าไปเทียบกับเยอรมันที่ค่าจ้างผู้จัดทั่วไปเฉลี่ยแล้ว ตกอยู่ที่ปีละ 179,115 เหรียญ (ประมาณ 5,900,000 บาท) ดูจากตัวเลขแล้วเยอรมันก็ยังเป็นรองจีนและสิงคโปร์อยู่ดี
แน่นอนว่านี่เป็นเทรนด์ของบริษัทเอเชียที่ต้องการดึงคนเก่งๆ เข้ามาทำงานด้วย เพราะค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นก็ดึงดูดคนเก่งๆ ได้มากกว่าอยู่แล้ว นอกจากนั้น ถ้าดูจากข้อมูลของ Hays บริษัทหางานในอังกฤษที่ระบุไว้ชัดว่า “เงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนงาน”
แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมว่า ด้วยค่าจ้างที่สูงขนาดนั้น บริษัทก็ย่อมคาดหวังการทำงานที่สมน้ำสมเนื้อกับเงินเดือนที่ได้รับด้วยเช่นกัน
ที่มา – Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา