เปิด 3 เหตุผล ทำไม ‘อาเซียน’ ส่งออกไป ‘อเมริกา’ มากกว่าไป ‘จีน’ แล้ว

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าตลอด 6 ไตรมาสที่ผ่าน ‘อาเซียน’ ส่งออกไป ‘จีน’ มากกว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ มาโดยตลอด แต่รายงานล่าสุดจาก Nikkei Asia รวบรวมสถิติการส่งออกจาก 10 ประเทศอาเซียน แสดงให้เห็นว่า ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ‘อาเซียน’ ส่งออกไป ‘สหรัฐอเมริกา’ มากกว่าไป ‘จีน’ แล้ว แต่เหตุผลคืออะไร Brand Inside จะพาไปดูกัน

อย่างแรก อยากชวนทุกคนมาดูสถิติการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา-จีนของอาเซียนในไตรมาส 1/2567 และลองดูตัวอย่างการเติบโตของการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา-จีนรายประเทศกันเล็กน้อยก่อน เพื่อให้เห็นภาพว่าการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเติบโตมากน้อยแค่ไหน

  • อาเซียน ส่งออกไป สหรัฐอเมริกา 6.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อาเซียน ส่งออกไป จีน 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตัวอย่างการเพิ่มขึ้น-ลดลงการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและจีน
  • มาเลเซีย  ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา +8%     ส่งออกไปจีน -3.3%
  • ไทย       ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา +9.8%  ส่งออกไปจีน -5.1%
  • เวียดนาม ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา +24%   ส่งออกไปจีน +9.2%

โดย ‘เวียดนาม’ เป็นประเทศที่การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเติบโตมากที่สุด แซงหน้าไทยและสิงคโปร์

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ ‘อาเซียน’ ส่งออกไปสหรัฐอเมริกามากกว่าจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส คือ 

1) สหรัฐอเมริกาต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน เพื่อลดความเสี่ยงและลดการพึ่งพาจีน โดยเฉพาะการจัดซื้อเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์

2) สหรัฐกำหนดกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของจีนในตลาดลดน้อยลง และสินค้าจากชาติอาเซียนสามารถเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น

3) อาการซึมเซาของเศรษฐกิจจีน นักวิเคราะห์ประเมินว่า มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเงินฝืด หลังจากดัชนีเงินเฟ้อเดือนมีนาคมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งสะท้อนอุปสงค์ว่ายังคงอ่อนแอ

โดยเหล่าชาติอาเซียนเป็นผู้ได้รับอานิสงส์ในทางบวก อาทิ ‘มาเลเซีย’ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการย้ายฐานการผลิต เพราะอีโคซิสเต็มในการผลิต ทำเลที่ตั้ง และแรงงานที่เหมาะสม ขณะที่ ‘เวียดนาม’ มีศักภาพในการส่งออกสินค้าหลายประเภทไปยังสหรัฐฯ อาทิ สมาร์ทโฟน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประมง ไม้-เฟอร์นิเจอร์ไม้ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ส่วน ‘ไทย’ ได้แรงหนุนจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทำให้สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกสินค้าไปจีนลดลงทำให้สินค้าบางประเภทส่งออกได้ลดลง อาทิ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลไม้ ที่สำคัญ คือ รถยนต์ โดยส่งออกลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากรวมการส่งออกไปยัง ‘ฮ่องกง’ ที่เป็นจุดผ่านแดนสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ 3 ด้วยแล้ว จะพบว่า การส่งออกของอาเซียนไปยัง ‘จีนและฮ่องกง’ ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่า 6.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ก็ถือว่าช่องว่างระหว่างการส่งออกไป ‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘จีน-ฮ่องกง’ ลดลงเรื่อยๆ จากเคยสูงถึง 8.64 หมื่นล้านดอลลาร์ในอดีต

อ่านข่าวอื่นๆ : KKP Research ชี้ส่งออกไม่พอ ‘แบก’ ศก.ไทย เพราะมีแต่สินค้าโลกเก่า ไม่มีโลกใหม่ เพื่อนบ้านเริ่มแซง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา