ตลาดกาแฟอาเซียนมาแรงจริง แต่ “ร้านกาแฟ” จะถูกท้าทายในไม่ช้า

ด้วยความรวดเร็วและสะดวกสบายของคนรุ่นใหม่ อาจทำให้ธุรกิจกาแฟต้องเปลี่ยนไป อย่างในภูมิภาคอาเซียนที่แม้จะมีอัตราการเติบโตของตลาดกาแฟสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงหลังมานี้รูปแบบของกาแฟที่เรียกว่า “กาแฟแคปซูล” เป็นกระแสที่ต้องจับตามอง

กาแฟแคปซูล Photo: Pixabay

ตลาดกาแฟอาเซียนเติบโตจากการเกิด “คนชั้นกลาง”

ตลาดกาแฟในภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เรียกว่าเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” ทำให้คนทั่วไปมีรายได้มากขึ้นจากการขยับมาเป็น “คนชั้นกลาง”

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ บอกว่า “ในขณะที่คนชั้นกลางของประเทศกำลังพัฒนากำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่ากาแฟเป็นสิ่งฟุ่มเฟื่อยในชีวิต เพราะสามารถเข้าถึงได้ทุกวัน จนกลายเป็นนิสัยไปแล้ว”

นักวิเคราะห์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกของ Mintel บอกเช่นกันว่า “ในช่วง 10 ปีมานี้ เชนผู้ค้ากาแฟต่างประเทศสนใจภูมิภาคนี้มาก และได้สร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ถ้าไปดูสถิติของภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่ามีผู้ผลิตและส่งออกกาแฟรายใหญ่หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซียอยู่อันดับ 4 และเวียดนามอันดับ 2 ของโลก ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยก็เป็นประเทศที่ส่งออกเช่นกัน แต่ถือเป็นรายเล็กรายย่อย

Photo: Pixabay

ความท้าทายของ “ร้านกาแฟ”

ปัญหาคือด้วยความรวดเร็วและต้องการความสะดวกในชีวิตสูง กลุ่มคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้มองหากาแฟที่ไม่ยุ่งยาก ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า แนวโน้มของกาแฟแคปซูลน่าจะมา เพราะอัตราการเติบโตนับตั้งแต่ปี 2011 – 2014 พบว่าทั่วโลกมีเพิ่มขึ้นกว่า 11% ในขณะที่กาแฟบดคั่วยังอยู่ที่ 30% เหมือนที่ผ่านมา

รวมถึงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Mintel บอกว่า กาแฟแคปซูลได้รับความนิยมอย่างมากญี่ปุ่น ไม่พอแค่นั้น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ประเทศพัฒนาที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจดีก็มีแนวโน้มที่เติบโตของกาแฟกลุ่นี้สูงมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตราการเติบโต ถ้าดูจากตัวเลขอาจยังไม่สูงมากนัก แต่มีแนวโน้มที่ต้องจับตามอง เพราะถ้านับจากปี 2012 ถึงเดือนเมษายน 2017 จะพบว่า กาแฟกลุ่มนี้ตีตลาดในมาเลเซียได้ถึง 4% สิงคโปร์ 3% อินโดนีเซีย 3% เวียดนาม 2% และไทย 1%

Giorgio Vergano ผู้ร่วมก่อตั้ง Iris Group ซึ่งตั้งขึ้นที่สิงคโปร์ในปี 2015 ระบุว่า “ทุกวันนี้ธุรกิจกาแฟเติบโตมากในภูมิภาคนี้ เพราะฉะนั้นเราได้ส่งเครื่องชงกาแฟ Nespresso และ Dolce Gusto เข้ามาตีตลาดในแถบนี้แล้ว”

ลองดูหน้าตาของเครื่องชงกาแฟแคปซูล (บางคนเรียกว่า Coffee Pod หรือ Coffee Capsule)

ความท้าทายของ “กาแฟแคปซูล”

จากสถิติของ Mintel พบว่า ถ้ากาแฟแคปซูลจากตีตลาดได้จริงๆ ปัญหาไม่ใช่ร้านกาแฟ เพราะถ้าเทียบราคากันแล้ว กาแฟแคปซูลจะถูกกว่าการเดินเข้าไปซื้อกาแฟใน Starbucks อย่างแน่นอน

แต่คู่แข่งอันดับ 1 คือ “กาแฟสำเร็จรูป” เพราะทั่วเอเชียกาแฟชนิดนี้ครองตลาดอยู่ 2 ใน 5 หรือ 42% ในขณะที่ยุโรปกาแฟชนิดนี้ครองเพียง 1 ใน 5 หรือ 20% และอีกเพียง 6% เท่านั้นในอเมริกาเหนือ

นักวิเคราะห์มองว่า ในอนาคตกาแฟแคปซูลจะเข้ามาครองตลาดได้มากกว่านี้แน่ แต่ถ้าหากไม่สามารถตีตลาดกาแฟสำเร็จรูปได้ อนาคตก็อาจไม่สดใส

สรุป

การเติบโตของตลาดกาแฟในอาเซียน ทำให้เกิดความท้าทายต่อร้านกาแฟ ด้วยแนวโน้มของกาแฟแคปซูลรูปที่ฮิตกันมากในยุโรปและอเมริกาอาจเข้ามาตีตลาดและฉวยโอกาสในจังหวะที่คนในแถบนี้ต้องการบริโภคกาแฟแบบสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ตลาดเอเชียทั้งหมดก็ถูกครอบครองด้วยกาแฟสำเร็จรูปอีกที งานนี้ต้องรอดูกันว่าใครจะอยู่ใครจะไป

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา