สื่อต่างประเทศ The New York Times รายงาน Apple ในจีน เน้นทำตามคำสั่งรัฐบาล ลบเนื้อหาสนับสนุนประชาธิปไตย และองค์ดาไลลามะ ส่งข้อมูลของผู้ใช้ในจีนให้รัฐบาล ขัดกับภาพลักษณ์ที่เน้นความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ของ Apple
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Apple บริษัทเทคโนโลยีเบอร์ต้นๆ ของโลก ด้วยมูลค่ากิจการ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีความพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นส่วนตัว” ของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ และมั่นใจได้ว่าข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคน จะได้รับการดูแลอย่างดี
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานจะดูเป็นเรื่องที่ Apple ทำอย่างจริงจัง และเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานทั่วโลกเชื่อมั่น แต่กลายเป็นว่า Apple ในประเทศจีน ไม่เหมือน Apple ที่เราคุ้นเคยกัน ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานคือสิ่งที่ Apple กำลังถูกต้ังคำถาม
สำนักข่าว The New York Times ออกรายงานพิเศษ ระบุถึงประเด็นความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานในประเทศจีน ที่ไม่เหมือนผู้ใช้งานในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงการร่วมมือกับรัฐบาลในการคุมเข้ม ไม่ให้มีเนื้อหา หรือแอปพลิเคชันที่ขัดต่อข้อกำหนดของรัฐบาล
ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน Apple ในจีนที่ไม่เป็นส่วนตัวอย่างที่คิด
ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานในประเทศจีน มีความแตกต่างจากผู้ใช้งานอื่นๆ ทั่วโลก เพราะรัฐบาลจีนกำหนดไว้ว่า “ข้อมูลของผู้ใช้งานในประเทศจีน ต้องเก็บไว้ในประเทศจีนเท่านั้น” ทำให้ Apple ต้องเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานในประเทศจีน ไว้ที่ศูนย์ข้อมูลที่แยกออกจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกโดยสิ้นเชิง และศูนย์ข้อมูลที่ Apple เลือกใช้เป็นบริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน แม้ Apple จะบอกว่าข้อมูลได้รับการเข้ารหัสอย่างปลอดภัย แต่ก็อย่าลืมว่ากุญแจสำหรับถอดรหัสข้อมูล ก็ถูกเก็บไว้ที่ศูนย์ข้อมูลในประเทศจีนเช่นเดียวกัน
โฆษกของ Apple เคยให้ข้อมูลในประเด็นนี้ว่า “ศูนย์ข้อมูลในประเทศจีน ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสที่ทันสมัยกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วยซ้ำ” และ Apple ยืนยันว่าต้องทำตามกฎหมาย และทำทุกอย่างที่จะทำให้ข้อมูลของผู้ใช้งานในจีนปลอดภัย
รัฐบาลจีนอาจขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ทุกเมื่อ
การที่ข้อมูลของผู้ใช้งานในประเทศจีน ถูกเก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลในประเทศจีน เป็นการทำตามกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ที่กำหนดเอาไว้ และ Apple ต้องทำตาม ด้านวิศวกรของ Apple และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยให้ความเห็นว่า Apple อาจไม่สามารถปฎิเสธคำขอของรัฐบาลจีนในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งรูปภาพ เอกสาร รายชื่อผู้ติดต่อ และอีเมล์ ตามคำขอของรัฐบาลจีนได้เลย
เทียบให้เห็นภาพถึงการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ครั้งหนึ่ง Apple เคยปฎิเสธคำขอ ของ F.B.I ที่ขอให้ปลดล็อคโทรศัพท์ iPhone ของผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุกราดยิงในที่สาธารณะ จนมีผู้เสียชีวิตถึง 14 คน จนในท้ายที่สุดแล้ว F.B.I. ต้องหาวิธีที่จะปลดล็อคโทรศัพท์ iPhone ด้วยตัวเอง
ส่วนในประเทศจีนหลังจากที่ Apple ทำตามข้อกำหนดของรัฐบาลในการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานอยู่ภายในประเทศจีนเท่านั้น ผู้ใช้งาน Apple จะต้องยิมยอมกับข้อกำหนดความเป็นส่วนตัวใหม่ ที่ระบุไว้ว่า “ให้ Guizhou-Cloud Big Data หรือ GCBD ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลมณฑล Guizhou สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดที่เก็บไว้ได้”
แถมผู้ที่ควบคุมระบบการเก็บข้อมูล คือพนักงานของ GCDB ส่วนพนักงานของ Apple ทำหน้าที่ดูแลอยู่ห่างๆ จากนอกประเทศจีนเท่านั้น
ตรวจสอบเนื้อหาแอปพลิเคชันอย่างเข้มงวด ไม่ให้ขัดต่อกฎหมายจีน
นอกจากประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานในประเทศจีน ที่มีการเก็บข้อมูลเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น ไม่มีการเก็บข้อมูลปนกับผู้ใช้งานอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว ยังมีประเด็นการตรวจสอบเนื้อหา และแอปพลิเคชันที่เข้มงวดด้วย
แม้ว่าในประเทศจีนจะมี App Store ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์ Apple เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ App Store ในประเทศจีน ไม่ใช่ App Store ที่เราคุ้นเคยกัน
เพราะ Apple ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการตรวจสอบเนื้อหาของแอปพลิเคชันที่จะเปิดให้ดาวน์โหลดบน App Store อย่างเข้มงวด ไม่มีแอปพลิเคชันของสำนักข่าวต่างประเทศ แอปพลิเคชันหาคู่เกย์ แอปพลิเคชันแชทแบบเข้ารหัสข้อความ รวมถึงแอปพลิเคชันที่สนับสนุนประชาธิปไตย หรือแม้แต่แอปพลิเคชันที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับองค์ดาไลลามะ ก็ไม่อนุญาตให้นำขึ้นบน App Store ของประเทศจีน ซึ่ง Apple ได้ให้เหตุผลไว้ว่า “ต้องการให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดยไม่ละเมิดกฎหมายที่ Apple ต้องทำตาม”
ครั้งหนึ่ง Apple เคยไล่พนักงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบแอปพลิเคชันก่อนนำขึ้น App Store ในประเทศจีนออก เพราะเผลออนุมติแอปพลิเคชันที่สนับสนุนประชาธิปไตย และมีข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีนขึ้นไปอยู่บน App Store หลังจากตรวจสอบแล้วว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย
โดย Apple จะมีลิสต์เนื้อหาต้องห้าม ที่ต้องคอยคัดกรองอย่างเข้มงวด ได้แก่ กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย องค์ดาไลลามะ เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน อิสรภาพของทิเบต และไต้หวัน หาก Apple เชื่อว่าแอปพลิเคชันหรือเนื้อหาใดขัดต่อข้อกำหนด ก็จะทำการลบออกทันที
ลบไปแล้วหลายหมื่นแอปฯ ประชาธิปไตย เพศ เกม อ่านข่าว โดนหมด
จากสถิติพบว่า นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา Apple ลบแอปพลิเคชันบน App Store จีนไปแล้วกว่า 55,000 แอปพลิเคชัน ในจำนวนนี้เป็นเกมไปแล้วมากกว่า 35,000 แอปพลิเคชัน ส่วนแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่โดนลบไป ได้แก่ แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเซลฟี่ แอปพลิเคชันสอนเรื่องเพศ แอปพลิเคชันส่งข้อความแบบเข้ารหัส แอปพลิเคชันที่สามารถเปิดเอกสาร และเว็บไซต์ที่รัฐบาลจีนห้าม รวมถึงแอปพลิเคชันอ่านข่าวจากต่างประเทศ โดยที่แอปพลิเคชันเหล่านี้ยังคงดาวน์โหลดได้ตามปกติใน App Store นอกประเทศจีน
ในทางตรงกันข้าม The New York Times อ้างถึงการรายงานของ The Information ว่า Apple กลับยอมให้มีแอปพลิเคชันที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับชาวอุยกูร์บน App Store
แถลงการณ์จาก Apple ยืนยันไม่ประนีประนอมต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ในจีน
ล่าสุดทาง Apple ได้ออกแถลงการณ์ถึงรายงานพิเศษของ The New York Times แล้วว่า Apple ยืนยันที่จะมอบประสบการณ์การใช้งานที่เหมือนกันแก่ผู้ใช้งานทั่วโลก รวมถึงผู้ใช้งานในประเทศจีน และ Apple มีมาตรฐานความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวที่สูง และไม่เคยประนีประนอมต่อความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานไม่ว่าจะในประเทศจีน หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในรายงานพิเศษของ The New York Times เป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ เป็นข้อมูลเก่า และไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ Apple ยังระบุด้วยว่า ประเทศจีนได้กำหนดให้ข้อมูลของผู้ใช้งานในประเทศจีน จะต้องเก็บไว้ในประเทศจีนเท่านั้น ซึ่ง Apple ได้ทำตามข้อกำหนดนี้ แต่จะไม่มีการประนีประนอมต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน รวมถึงเป็นผู้ถือกุญแจที่ใช้เข้ารหัสข้อมูลของผู้ใช้งานด้วยตัวเอง
ที่มา – The New York Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา