เปิดเคล็ดลับ Apple ดึงดูดคนเก่งๆ ทั่วโลกมาร่วมงานได้อย่างไร

Brand Inside ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Employer Branding หรือการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทเราดูน่าสนใจและเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หัวกะทิ หรือคนรุ่นใหม่ไฟแรงซึ่งมีความสามารถอยากมาร่วมงานด้วย ผ่านกรณีศึกษาของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Apple

SAN FRANCISCO – JANUARY 11: Apple CEO Steve Jobs delivers a keynote address at the 2005 Macworld Expo January 11, 2005 in San Francisco, California. (Photo by Justin Sullivan/Getty Images)

Employer Branding คืออะไร ?

Employer Branding คือการบริหาร “ภาพลักษณ์” ของบริษัทให้น่าสนใจและน่าสมัครมาทำงานด้วย เราสามารถสร้าง Employer Branding ได้ด้วยการค้นหาสิ่งที่เป็น “เอกลักษณ์” และ “จุดยืน” ของบริษัทตัวเอง แล้วนำเสนอมันออกมาในรูปแบบที่น่าดึงดูดใจ 

ถ้าสามารถทำบริหารภาพลักษณ์บริษัทได้ดีเราก็จะเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ที่ผู้สมัครงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ จะนึกถึง พนักงานในบริษัทเองก็จะมีความสุขและภูมิใจกับงานที่ได้ทำ ซึ่งถ้าพนักงานมีความสุขพวกเขาก็จะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ของบริษัทให้คนภายนอกบริษัทได้ฟัง ทำให้เรามีโอกาสได้รับพนักงานใหม่ ลูกค้า หรือผู้ถือหุ้นที่สนใจในการบริหารงานของบริษัทเรา

7 วิธีการทำ Employer Branding

1.ทำความรู้จัก Mission Vision และวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทตัวเอง

ถ้าเราเข้าใจพันธกิจ วิสัยทัศน์ และวัฒนธรรมองค์กร เราก็จะสามารถกำหนดได้ว่าต้องการพนักงานแบบไหนที่จะช่วยให้เป้าหมายของบริษัทเป็นจริงได้ ซึ่งวิสัยทัศน์ของบริษัท Apple คือการมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโลก และการสร้างประสบการณ์ใช้งานเทคโนโลยีที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

2. ทำ Persona ของพนักงานที่บริษัทอยากร่วมงานด้วย

Persona คือการกำหนดบุคลิกลักษณะของกลุ่มเป้าหมายออกมาอย่างละเอียด ดังนั้น การทำ persona ของพนักงานที่บริษัทอยากร่วมงานด้วยจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าสารที่เราสื่อออกไปจะตรงใจกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Apple อยากได้พนักงานที่มีความสามารถสูง คิดนอกกรอบ สนุกกับการแก้ปัญหา มีทัศนคติที่อย่างสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับโลก เป็นต้น

3. เขียน Job Descriptions ให้น่าสนใจ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะเปิดรับสมัครตำแหน่งที่ต้องสื่อสารได้เป็นอย่างดี แทนที่คุณจะเขียนคำอธิบายหน้าที่งานว่า “ต้องเป็นคนที่สามารถสื่อสารได้อย่างยอดเยี่ยม” ก็อาจจะเปลี่ยนเป็น “ต้องเป็นคนที่สื่อสารทางโทรศัพท์ได้อย่างยอดเยี่ยม และไม่รู้สึกกลัวเมื่อต้องโทรหาลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน” เป็นต้น จากนั้นให้ลองตั้งค่า SEO ของเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ที่อยากสมัครตำแหน่งงานต่างๆ เสิร์จหาบริษัทเราเจอเป็นลำดับแรกๆ 

ดูตัวอย่างการเขียน job descriptions ของบริษัท Apple ได้ ที่นี่

4. ให้พนักงานมีส่วนร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของบริษัทไปในวงกว้าง

คนที่อยากสมัครเข้ามาทำงานกับบริษัทของเราจะเชื่อคำบอกเล่าจากพนักงานในบริษัทมากกว่าคำพูดจาก CEO ของบริษัทเอง ดังนั้น เราอาจจะเปิดโอกาสให้พนักงานเขียน blog เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การทำงานต่างๆ รวมทั้งเล่าเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน เรื่องเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

5. ใช้โซเชียลมีเดียบอกเล่าเรื่องราวของบริษัท

เราสามารถนำเสนอความน่าสนใจของบริษัทได้หลายวิธี เช่น ถ่ายภาพบรรยากาศสถานที่ทำงาน ถ่ายวิดิโอแนะนำบริษัทโดย CEO หรือ HR ถ่ายคลิปสัมภาษณ์ประสบการณ์ทำงานของพนักงานลงบนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ทำความรู้จักกับบริษัทของเรามากขึ้น  

6. ทำความเข้าใจว่า “เงินเดือน” สำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แทนที่จะโปรโมทบริษัทด้วยเรื่อง “เงินเดือน” เพียงอย่างเดียว ให้เราลองนำเสนอ “คุณค่าอื่น” ด้วย เช่น งานที่ทำจะมีคุณค่าขนาดไหน งานที่ทำสามารถช่วยให้โลกดีขึ้นอย่างไร หรืองานที่ทำจะช่วยให้ผู้สมัครเติบโตขึ้นในด้านหน้าที่การงานหรือด้านจิตวิญญานอย่างไรบ้าง เป็นต้น

7. สำรวจว่าทั้งคนในและคนนอกมีมุมมองต่อบริษัทของเราอย่างไร

เราอาจจะยังไม่ทราบว่าพนักงานของเราและคนภายนอกมีมุมมองต่อบริษัทของเราอย่างไร ดังนั้น เราจึงควรทำแบบสำรวจหรือแบบสอบถามในเรื่องดังกล่าวเพื่อทราบข้อดี ข้อเสียด้านภาพลักษณ์ของบริษัท และสามารถนำมาพัฒนาให้ดีขึ้นได้

5 เคล็ดลับการทำ Employer Branding ของบริษัท Apple

1.ทำให้พนักงานรู้สึกมี “แรงบันดาลใจ” ที่งานของพวกเขา “สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก”

พนักงานหลายๆ ฝ่ายของ Apple รู้สึกมีแรงบันดาลใจที่ได้ใช้เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้โลกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งพนักงานที่ Apple จะถือคติว่าต้องสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้าเท่านั้น

2. ทำให้พนักงาน “พึงพอใจ” ที่ได้ “เติบโตด้านหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว”

พนักงานส่วนใหญ่ของ Apple รู้สึกพึงพอใจที่ตนเองก้าวหน้าด้านหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว พร้อมไปกับการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของตัวบริษัทเอง

3. ทำให้พนักงานรู้สึก “มีพลัง” ด้วยการ “ได้ร่วมงานกับคนมากความสามารถ”

Steve Jobs เคยกล่าวไว้ว่าจะคัดเลือกเฉพาะพนักงานเกรดเอเสมอ ดังนั้น พนักงานของบริษัท Apple จึงรู้สึกมีพลังเมื่อได้ทำงานร่วมกับคนแถวหน้าของวงการเทคโนโลยี และได้ร่วมเรียนรู้รวมถึงพัฒนาตนเองไปด้วยกัน

4. ทำให้พนักงานรู้สึก “ภูมิใจ” ที่บริษัทมี “CEO ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก”

ไม่มีใครในโลกไม่รู้จัก Steve Jobs เพราะเขาเป็นหัวเรือสำคัญที่ทำให้เกิดบริษัท Apple ซึ่งสร้างผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ หากสอบถามพนักงานบริษัท Apple เกี่ยวกับ CEO คนปัจจุบัน หรือ Tim Cook คำตอบกว่า 90% ก็จะเป็นไปในแง่บวกทั้งสิ้น

5. ทำให้พนักงานรู้สึก “มั่นคง” เพราะมีประวัติการทำงานที่ดี

Apple เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก บริษัทอื่นจึงมีมุมมองแง่บวกต่อบริษัทนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อพนักงาน ลาออก จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะได้เข้าทำงานบริษัทระดับโลกอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์อีกมากมายที่พนักงาน Apple จะได้รับ เช่น เงินเดือนที่สูงมากหากเทียบกับคนทำงานสายไอทีด้วยกัน, ได้รับส่วนลดหากซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple, มีสวัสดิการทั้งด้านอาหารและด้านการเดินทางให้เป็นอย่างดี เป็นต้น

สรุป

แม้ว่าบริษัทของเราจะไม่ใช่บริษัทระดับโลก แต่ถ้าเราสามารถทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุข มีความภูมิใจ มีแรงบันดาลใจ รวมถึงรู้สึกมั่นคงในการทำงานกับเราได้ เราก็จะสามารถดึงดูดคนหัวกะทิที่มีแพชชั่นให้มาทำงานกับบริษัทเราได้ไม่ยาก 

ที่มา : businessinsider,linkedin (1),linkedin (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา