Ant Financial บริษัทการเงินของ Alibaba ที่ให้บริการ Alipay ถือเป็นหนึ่งในบริษัทการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณธุรกรรมมากกว่า Mastercard, เป็นผู้คุมกองทุนตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก, ปล่อยเงินกู้ให้กับคนนับสิบล้านคน และมีปริมาณเงินใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม 8 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เทียบได้กับสองเท่าของ GDP ของเยอรมนี
Ant Financial เติบโตมากับเศรษฐกิจจีน ด้วยการอำนวยความสะดวกให้คนจีนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย ๆ ผู้คนสามารถซื้อประกันได้ราวกับการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ หรือออกไปจับจ่ายใช้สอยได้โดยไม่ต้องใช้เงินสด
แต่ความใหญ่ของ Ant Financial นี้เองกลับสร้างปัญหาให้กับระบบการเงินของจีน ซึ่งตอนนี้ทำให้รัฐบาลจีนต้องเริ่มจริงจังกับ Ant Financial รวมถึงสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และบริษัทฟินเทคอื่น ๆ ก่อนที่บริษัทเหล่านี้จะใหญ่เกินไปจนสร้างปัญหาให้ระบบการเงินของจีน
ก่อนหน้านี้เคย Reuters เคยรายงานข่าวมาแล้วเกี่ยวกับ Ant Financial ว่าทางบริษัทอาจต้องปรับธุรกิจครั้งใหญ่เนื่องจากรัฐบาลจีนเริ่มออกมาตรการกดดันอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด Wall Street Journal โดย Stella Yifan ได้เขียนบทความระบุถึงปัญหาของ Ant Financial ต่อระบบการเงินจีน โดยเฉพาะธนาคารที่ได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งมีความน่าสนใจหลายประการด้วยกัน ตั้งแต่ Alipay, กองทุนตลาดเงิน Yu’e Bao และ Sesame Credit บริการเครดิตของ Ant Financial
ธนาคารในประเทศจีนต่างก็กล่าวหาว่าทุกวันนี้ Ant Financial ไซฟ่อนเงินฝากที่ควรจะเป็นของธนาคารออกไป ทำให้ธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง และยังเป็นสาเหตุที่ให้ต้องปิดสาขาและเอทีเอ็ม โดยนักวิจารณ์จากช่องโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนคนหนึ่งถึงกับบอกว่ากองทุนตลาดเงินขนาดใหญ่ของ Ant Financial คือ “แวมไพร์ที่ดูดเลือดจากธนาคาร”
ฝั่งหน่วยงานภาครัฐของจีนก็ดูจะไม่ค่อยพอใจกับสเกลของ Ant Financial ในปัจจุบัน จึงออกมาตรการควบคุมกิจกรรมของบริษัทในหลายด้านแล้ว
Zhu Ning รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเงินแห่งชาติที่ Tsinghua University กล่าวว่า “หลายปีมานี้หน่วยงานของจีนปิดหูปิดตาและปล่อยให้พวกเขา (Ant Financial) เติบโตเท่าที่จะทำได้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าสถาบันการเงินขนาดยักษ์สามารถหลบโครงสร้างการกำกับดูแลที่ครอบคุลมได้”
รองประธานธนาคารกลางจีนก็เคยออกมากล่าวเตือนสถาบันการเงินที่มีอิทธิพลสูงบางแห่งว่าอย่าคิดว่าตัวเองจะใหญ่เกินจะควบคุมได้ ซึ่งแม้จะไม่ได้กล่าวถึงบริษัทไหนเป็นพิเศษ แต่ก็เดาได้ไม่ยากว่าหมายถึง Ant Financial ในขณะที่ผู้บริหารของบริษัท Ant Financial ก็ปฏิเสธความเข้าใจที่ว่าบริษัทดำเนินกิจการแบบธนาคารโดยไม่ต้องถูกกำกับดูแล และยืนยันว่าบริษัทเป็นเพียงผู้ให้บริการทางการเงินกับผู้คนที่ธนาคารไม่สนใจ
นอกจากนี้ ผู้บริหารยังยืนยันว่า Ant Financial ไม่ได้นำเงินให้กู้ยืมส่วนมากมาจากงบดุลของบริษัท เพียงแต่เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ช่องทางปล่อยกู้กับธนาคารและช่วยลดความเสี่ยงเท่านั้น
Leiming Chen หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ Ant Financial เผยว่า “ผมไม่คิดว่าธนาคารจะเห็นเราเป็นผู้ disrupt เราเติมเต็มพวกเขาและช่วยพวกเขาให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น” พร้อมทั้งยืนยันว่าหน่วยงานของจีนนั้นเข้าใจว่า Ant Financial กำลังทำอะไร และพร้อมสนับสนุนความพยายามของบริษัท
ปัจจุบันผู้ใช้งาน Alipay มีอยู่ราว 620 ล้านคน ซึ่งเมื่อผู้ใช้โอนเงินจากธนาคารมายัง Alipay แล้ว ส่วนมากเงินเหล่านี้ไม่กลับไปสู่ธนาคาร ตัวอย่างหนึ่งของผู้ใช้งาน เช่น Elaine Wang ผู้จัดการการตลาดอายุ 30 ปีในเซี่ยงไฮ้ระบุว่า ทุกเดือนเธอจะโอนหนึ่งในสามของเงินเดือน จากบัญชี China Merchants Bank เข้ามาในผลิตภัณฑ์การลงทุนของ Ant Financial และใช้ Alipay หลายครั้งต่อวันในการทำจับจ่ายซื้อสินค้า อย่างเช่นการซื้อกาแฟ
กองทุนตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในปี 2013 นั้น Alipay ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Ant Financial มีสินทรัพย์เป็นเงินของลูกค้านับพันล้านดอลลาร์ และด้วยความใหญ่นี้เอง Alipay จึงเริ่มให้บริการกองทุนตลาดเงิน Yu’e Bao กับผู้ใช้แพลตฟอร์ม โดยลงทุนเริ่มต้นที่ 0.01 หยวน และไม่มีค่าธรรมเนียมโอนเงินเข้าออกระหว่างกองทุนกับ Alipay เมื่อเปิดกองทุนในเดือนมิถุนายนปี 2013 จึงมีผู้ใช้นับล้านโอนสินทรัพย์เข้ากองทุนภายในเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
Yu’e Bao เป็นกองทุนตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าธนาคาร เพราะสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและเสี่ยงกว่าซึ่งธนาคารไม่สามารถทำได้
ตั้งแต่นั้นมา กองทุน Yu’e Bao ก็ดูดเงินจากบัญชีเงินฝากและสร้างปัญหาให้ธนาคาร จน Industrial and Commercial Bank of China หรือ ICBC ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในจีนโดยสินทรัพย์ตัดสินใจลดจำนวนเงินที่ผู้ใช้ Alipay ถอนได้ต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้งลง ธนาคารอื่นจึงเริ่มทำตามบ้าง
Ma Weihua จาก Wing Lung Bank เคยกล่าวไว้ว่า กองทุน Yu’e Bao เป็นภัยกับธนาคารเพราะกองทุนนี้ดูดเงินจากบัญชีเงินฝาก
นอกจากนี้ ธนาคารบางแห่งก็เริ่มออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (commercial paper) ให้ Yu’e Bao ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารสูงขึ้น
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว คณะกรรมการกำลังด้านหลักทรัพย์ของจีนบอกว่า มีกองทุนตลาดเงินขนาดใหญ่บางกองทุนที่มีนัยสำคัญต่อระบบโดยไม่ได้พูดถึงชื่อ Yu’e Bao แต่ก็ได้ออกกฎกำหนดให้กองทุนตลาดเงินลดการถือสินทรัพย์ที่ขายออกยาก กองทุน Yu’e Bao จึงต้องเริ่มจำกัดเงินลงทุน
ห้ามร้านค้าปฏิเสธการรับเงินสด
ครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ Alipay ได้โปรโมต cashless society ใน Wuhan โดยมีการให้เงินคืนเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยสมาร์ทโฟนในร้านค้า แต่หลังจากที่เปิดตัวไม่กี่วัน สำนักข่าวของจีนแห่งหนึ่งรายงานว่า Ant Financial ถูกทางการจีนสั่งให้ลบคำว่า cashless ออก และสั่งห้ามผู้ค้าปฏิเสธการรับเงินสด แต่สำนักข่าวอีกแห่งก็รายงานภายหลังว่าทางการปฏิเสธเรื่องการออกคำสั่งนี้
เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนก็ออกมาประกาศชัดเจนว่า ห้ามร้านค้าปฏิเสธการรับเงินสด พร้อมทั้งยืนยันว่าการปฏิเสธเงินสดเป็นการทำความเสียหายให้กับสถานะทางกฎหมายของเงินตรา และทำลายสิทธิผู้บริโภค
บริการคะแนนเครดิต
ในอดีตนั้น จีนมีปัญหาเรื่องบริการข้อมูลเครดิตเนื่องจากไม่มีหน่วยงานกลางคอยดูแล ในปี 2015 ธนาคารกลางจึงเริ่มเสนอให้บริษัทเอกชนพัฒนาระบบให้คะแนนเครดิต ซึ่ง Ant Financial ก็เริ่มทำระบบของตัวเองโดยการใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งซึ่งรวมถึงข้อมูลการใช้จ่ายของ Alipay ด้วย
ในปี 2017 เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจีนได้กล่าวในงานสัมมนาว่าระบบให้คะแนนเครดิตที่บริษัทเอกชนพัฒนานั้นต่ำกว่ามาตรฐานมาก และปีนี้ธนาคารกลางจีนได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทของรัฐบาลจีนแห่งหนึ่งชื่อว่า Baihang Credit Scoring เพื่อสร้างระบบให้ข้อมูลเครดิตระดับชาติจีน เพื่อใช้สำหรับการให้กู้ยืมเงิน ส่วนข้อมูลเครดิตจาก Zhima Credit หรือ Sesame Credit ของ Ant Financial ในตอนนี้จึงใช้กับวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่การเงินเท่านั้น อย่างเช่นการเช่าจักรยาน
กำหนดทุนสำรอง จำกัดรายได้ฟินเทค
ตอนนี้หน่วยงานกำกับดูแลของจีนพยายามกำหนดให้ Ant Financial เป็นบริษัทการเงินที่ต้องมีเงินทุนสำรองเหมือนกับธนาคาร และก่อนหน้านี้ก็เพิ่งออกกฎให้บริการจ่ายเงินโดยสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอย่าง Alipay รวมถึงคู่แข่งอย่าง WeChat Pay จะต้องเก็บสินทรัพย์ไว้ในบัญชีธนาคารที่ไม่ได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปี 2019 เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด
การออกข้อกำหนดทั้งหมดนี้ เป็นการจำกัดช่องทางหารายได้และเพิ่มค่าใช้จ่าย ซึ่งก็คือการกดดันการเติบโตทางอ้อมนั่นเอง
การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีนก็ส่งผลให้บริษัทอื่นไม่ค่อยกล้าให้บริการทางการเงินเอง โดยเมื่อไม่กี่เดือนก่อน JD.com และ Baidu ก็ตัดสินใจไม่เปิดให้บริการทางการเงินเอง แต่เปลี่ยนไปให้บริการแพลตฟอร์มกับสถาบันการเงินของจีน ซึ่ง Ant Financial ก็อาจจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบนั้นบ้าง คือแทนที่จะเป็นสถาบันการเงินก็เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกับสถาบันการเงินอีกที และรายได้ก็จะมาจากสถาบันการเงินที่ใช้เทคโนโลยีของบริษัท
ปัจจุบัน Ant Financial มีรายได้จากบริการจ่ายเงินออนไลน์ถึง 65% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2016 แต่แหล่งข่าวที่ทราบสถานการณ์เผยว่าในปี 2021 อาจจะเหลือเพียงไม่ถึงหนึ่งในสามเท่านั้น โดย Ant Financial จะต้องยกการควบคุมข้อมูลธุรกรรมบางอย่างให้กับ Wang Lian บริษัทจ่ายเงินออนไลน์ของรัฐบาลจีนที่คาดว่าน่าจะมาเพื่อแข่งกับ Ant Financial โดยเฉพาะ
แม้ตอนนี้ Ant Financial อาจประสบปัญหาบางอย่าง แต่นักลงทุนบางรายก็ไม่ได้กังวลมากนักว่าบริษัทจะเติบโตต่อไม่ได้ โดย Ben Zhou ผู้อำนวยการจัดการของบริษัท Warburg Pincus ซึ่งลงทุนใน Ant บอกว่า ความตั้งใจในการควบคุม Ant Financial ของรัฐบาลจีนไม่ได้ระงับการเติบโตของบริษัท Ant ไม่เหมือนบริษัทอื่นในโลกนี้ มันคือสปีซีส์ใหม่
สรุป
ความใหญ่ของ Ant Financial นั้นนอกจากจะสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้เศรษฐกิจจีน แต่ก็สร้างความเสี่ยงให้ระบบการเงินด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าธนาคารกลางจีนก็เริ่มกังวลจนเข้ามาควบคุม Ant Financial รวมถึงบริษัทฟินเทคต่าง ๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้บริการเหล่านี้ไม่สร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจของจีนในอนาคต
ที่มา – MarketWatch
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา