แอนิเทค ลงทุน 10 ล้านบาท ดึงตัวละครซานริโอติดผลิตภัณฑ์ ดันยอดขายปีนี้แตะ 300 ล้านบาท

แอนิเทค แบรนด์สินค้าไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย ลงทุน 10 ล้านบาท ดึงตัวละครจากซานริโอมาติดผลิตภัณฑ์ หวังจูงใจลูกค้าผู้หญิง และผู้ชื่นชอบในตัวละคร ดันยอดขายปีนี้แตะ 300 ล้านบาท ย้ำขายสินค้าระดับกลางถึงบนเช่นเดิม เผยฝั่งธุรกิจรับผลิตสินค้าเดินลำบาก เหตุแบรนด์ต่างประเทศกดราคาจนผู้ผลิตท้องถิ่นอยู่ไม่ได้

แอนิเทค

แอนิเทค ลงทุน 10 ล้าน ดึงซานริโอเสริมทัพ

โธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์ แอนิเทค เล่าให้ฟังว่า หลังจากความสำเร็จในการทำตลาดผ่านตัวละคร เช่น ปี 2022 ทำข้อตกลงกับผู้ถือลิขสิทธิ์สนูปี้เพื่อนำตัวละครมาติดบนผลิตภัณฑ์ 20 รายการ จนมียอดขายกว่า 40 ล้านบาท มากกว่าที่ตั้งไว้เท่าตัว

ล่าสุดปี 2024 จึงเดินหน้ากลยุทธ์ดังกล่าวอีกครั้งด้วยการทำข้อตกลงกับซานริโอรวมมูลค่า 10 ล้านบาท เพื่อนำตัวละครมาติดบนผลิตภัณฑ์ 35 รายการ โดยเริ่มที่ คุโรมิ กับ แบดแบตซ์มารุ เช่น คีย์บอร์ด, เครื่องคิดเลข และหูฟัง โดยหวังยอดขายจากสินค้ากลุ่มดังกล่าวราว 50 ล้านบาท นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2024 ถึง ม.ค. 2025

“ดีลซานริโอถือเป็นก้าวสำคัญในการอิงกระแสความนิยมของอาร์ตทอยที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และตัวละครเหล่านี้จะช่วยให้แอนิเทคสามารถเข้าถึงแฟนคลับซานริโอที่มีอยู่ในทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่เด็ก ๆ ได้มากกว่าเดิม” โธมัส กล่าว โดยมูลค่าตลาดอาร์ตทอยทั่วโลกสูงถึง 8,517.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครึ่งหนึ่งมาจากเอเชีย

แอนิเทค

คงตำแหน่งสินค้าระดับกลางถึงบน

โธมัส ย้ำว่า จากการที่มีคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาบุกตลาดสินค้าไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก บริษัทยังไม่มีแผนปรับราคาลดลงเพื่อเข้าไปร่วมสงครามราคา แต่ยังคงตำแหน่งของสินค้าไว้ที่ระดับกลางบนเช่นเดิม เพื่อหนีการแข่งขันที่อาจสู้ได้ลำบาก รวมถึงรักษาภาพลักษณ์ที่บริษัทวางไว้ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 20 ปีก่อน

“การแข่งด้วยราคากับผู้เล่นที่มาจากต่างชาติเป็นเรื่องยาก การรักษาจุดแตกต่างของแบรนด์จึงจำเป็น ไม่ใช่ราคา แต่คือคุณภาพ และฟังก์ชันในการตอบโจทย์ผู้ซื้อ” โดยปัจจุบันผู้ซื้อสินค้าของแอนิเทคเป็นผู้ชาย 60% และผู้หญิง 40% ซึ่งส่วนใหญ่เน้นซื้อเพราะฟังก์ชัน แต่จากแคมเปญซานริโอจะมีการตัดสินใจซื้อผ่านอีโมชันมากขึ้น

สำหรับยอดขายเมื่อแบ่งตามช่องทางจำหน่ายของแอนิเทคจะมาจากช่องทางค้าปลีกทั่วไป 85% และที่เหลือมาจากช่องทางออนไลน์ทั้งแบรนด์ดอตคอม และการจำหน่ายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยในปี 2025 ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% และปี 2026 จะเป็น 50%

แอนิเทค

ปิดปีนี้ยอดขาย 300 ล้านบาท แทบไม่เติบโต

ส่วนยอดขายในปี 2024 ของแอนิเทคจะทำได้ราว 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่ทำได้ราว 280 ล้านบาท ถือว่าไม่เติบโตนัก เพราะมีส่วนรายได้จากธุรกิจรับผลิต (OEM) หายไป ผ่านปัญหาเรื่องผู้ผลิตจากต่างชาติเข้ามารุกตลาดไทยจนผู้เล่นท้องถิ่นไม่สามารถทำแบรนด์ของตัวเองได้

“ปี 2024 เราจะมีรายได้จากการขายสินค้าแบรนด์แอนิเทค 95% ส่วนอีก 5% มาจากการรับผลิตให้กับผู้สนใจสร้างแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งในช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด สัดส่วนรายได้จากการรับผลิตยังอยู่ราว 30% และค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือแค่ 5% และคงกลับมามีสัดส่วนสำคัญได้ลำบาก”

ทั้งนี้แอนิเทคไม่ได้มีโรงงานเป็นของตัวเอง อาศัยการวางตัวเป็นผู้วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อนไปจัดซื้อวัสดุ รวมถึงจัดหาโรงงานที่เชี่ยวชาญในการผลิตเพื่อควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนธุรกิจรับจ้างผลิต แอนิเทควางตัวเป็นที่ปรึกษา และไปจัดซื้อวัสดุ และจัดหาโรงงานเพื่อผลิตให้กับผู้สนใจอีกที

แอนิเทค

โอดรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาต่างชาติบุกไทย

แอนิเทค ทำตลาดสินค้า 3 ประเภทหลัก ประกอบด้วย สินค้าไอที, ปลั๊กไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยรายได้จาก 3 กลุ่มสินค้าแบ่งเป็น 30% เท่า ๆ กัน แต่สินค้าเหล่านี้ถูกผู้ผลิตจากต่างชาติเข้ามาแย่งส่วนแบ่งอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการให้รัฐบาลเริ่มควบคุมการเข้ามาทำตลาดของแบรนด์ต่างชาติเหล่านั้น

“การสนับสนุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ SME ในไทยยังดำรงอยู่ และแข่งขันได้ โดยนโยบายที่ออกมาต้องเร็ว, แรง และถี่ แม้ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจะเริ่มปรับตัวกันได้บ้างแล้ว แต่หากยังปล่อยไว้โอกาสที่ SME ไทยจะหายไปจากตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็มีสูง”

จากการบุกตลาดของแบรนด์ต่างชาติ แอนิเทค มีการปรับตัวไปทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น เช่น เมียนมา, ลาว และกัมพูชา แต่ยังคิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่น้อยอยู่ ซึ่งจากความร่วมมือกับซานริโอ บริษัทมีแผนจะไปทำตลาดในอินโดนีเซีย รวมถึงกลับไปทำตลาดเวียดนามเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา