บทบาทผู้นำในภาวะวิกฤต: รู้จัก Andrew Cuomo ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ศูนย์กลางการระบาด COVID-19 แห่งใหม่

บทบาทผู้นำในภาวะวิกฤตถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เราทุกคนรอดไปได้

หนึ่งในตัวอย่างของผู้นำที่น่าสนใจและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งในวิกฤต COVID-19 คือ Andrew Cuomo ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ผู้ซึ่งกำลังจัดการกับวิกฤตครั้งนี้ในมหานครที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสูงที่สุดในประเทศ

Andrew Cuomo
NEW YORK, NY – MARCH 24: New York Governor Andrew Cuomo speaks to the media at the Javits Convention Center which is being turned into a hospital to help fight coronavirus cases on March 24, 2020 in New York City. New York City has about a third of the nation’s confirmed coronavirus cases, making it the center of the outbreak in the United States. (Photo by Eduardo Munoz Alvarez/Getty Images)

เขาคือใคร

Andrew Cuomo (แอนดรู โคโม่) คือผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยดำรงตำแหน่งนี้มาร่วม 10 ปี  รวมทั้งหมด 3 สมัย (เขาชนะการเลือกตั้งผู้ว่ารัฐนิวยอร์กครั้งแรกในปี 2010 ตามมาด้วยปี 2014 และ 2018)

เขาทำอะไรในภาวะวิกฤต COVID-19

Cuomo เป็นนักการเมืองคนแรกๆ ของสหรัฐอเมริกาที่ออกมาต่อสู้กับวิกฤต COVID-19 อย่างจริงจังก่อนที่ปัญหานี้จะลุกลามไปในระดับชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในรัฐนิวยอร์กมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสพุ่งสูงขึ้นอย่างทวีคูณด้วย

สิ่งที่ Cuomo ทำคือ ออกแถลงการณ์รายวัน (daily briefing) เพื่อชี้แจงรายละเอียดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสและหนทางในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติกับรัฐนิวยอร์กอย่างจริงจัง เช่น สั่งปิดโรงเรียนในรัฐนิวยอร์กทันที เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวของประชาชนและหยุดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส คำสั่งของเขาส่งผลให้ผู้ว่าเทศมนตรีของนิวยอร์กต้องประกาศสั่งปิดร้านอาหารทั่วรัฐตามมา

การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของ Cuomo ต่อวิกฤตโรคระบาด ชนิดที่ไม่รอให้เหตุการณ์เลวร้ายมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงภาวะของการเป็น “ผู้นำ” ที่แซงหน้าประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ผู้นำสูงสุดของประเทศที่ในช่วงแรกมักออกมาให้สัมภาษณ์สื่ออย่างสม่ำเสมอว่า วิกฤต COVID-19 ยังไม่เรื่องใหญ่โต และรัฐบาลทรัมป์ยังเอาอยู่ (จนกระทั่งสุดท้ายทรัมป์ยอมรับว่ามันคือวิกฤตใหญ่ในภายหลัง เมื่อตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศ)

  • แต่แม้ว่าจะเตรียมตัวรับมือดีแค่ไหน สถานการณ์ COVID-19 ในรัฐนิวยอร์กก็ส่อแววเลวร้ายกว่าที่คาดคิดไว้ ในปัจจุบันรัฐนิวยอร์กถูกขนานนามให้เป็น “ศูนย์กลางการระบาดของ COVID-19” ไปเรียบร้อยแล้ว

ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2020 เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโรค COVID-19 ในนิวยอร์กเพียงรัฐเดียวพุ่งสูงรวมแล้วกว่า 25,000 ราย (ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อราว 53,000 ราย) สำหรับรัฐนิวยอร์กจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบ 23% โดยมีผู้ป่วยขั้นวิกฤตจำนวน 700 กว่าคน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 210 คน

ไม่นานมานี้ Cuomo ได้ออกมาเตือนว่า การแพร่กระจายของ COVID-19 จะรวดเร็วและรุนแรงประหนึ่ง “รถไฟหัวกระสุน” (หรือรถไฟความเร็วสูง) อันจะส่งผลผู้คนนับหมื่นรายในนิวยอร์กเสียชีวิตได้ สิ่งที่โรงพยาบาลทั่วนิวยอร์กต้องการเป็นอย่างมากและกำลังขาดแคลนอยู่ในปัจจุบันคือ “เครื่องช่วยหายใจ” เพราะตอนนี้มีอยู่เพียง 400 เครื่อง แต่ถ้าดูจากความต้องการในทางการแพทย์ นิวยอร์กต้องการเครื่องช่วยหายใจสูงถึง 30,000 เครื่อง

Cuomo พูดถึงปัญหานี้ทุกวัน จนสุดท้ายทำเนียบขาวต้องฟัง และสุดท้ายระบุว่าจะส่งเครื่องช่วยหายใจมาให้จำนวน 2,000 เครื่องภายในวันเร็วๆ นี้ และจะส่งให้อีก 2,000 เครื่องในไม่ช้า

ลองฟังแถลงรายวันของ Cuomo ได้ที่ทวิตเตอร์ของเขาด้านล่างนี้

ในภาวะวิกฤต ผู้นำที่มาพร้อมข้อมูล-ข้อเท็จจริง คือสิ่งสำคัญ

แน่นอนว่า ความโดดเด่นของ Cuomo คือการกล้าออกมา “นำ” ในภาวะที่ฝุ่นยังตลบ และหลายคนยังมึนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้ว ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งคือ ความสม่ำเสมอของการอัพเดทข้อมูลให้กับประชาชน (ทั้งชาวนิวยอร์กและทั้งประเทศ) ผ่านการไลฟ์สด โดยเขากล้าที่จะพูดถึงข้อเท็จจริง เปิดเผยข้อมูล ไม่ปกปิด เน้นความโปร่งใส อะไรแก้ได้หรือทำได้ ลงมือปฏิบัติทันที ส่วนอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือหรือขาดแคลนก็ประกาศทันทีเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ในห้วงเวลาแห่งความสับสน อเมริกันชนจึงต่างรอฟังว่าเขาจะพูดหรือแถลงอะไร

ปัจจุบัน Cuomo ได้รับความนิยมสูงมากจากสาธารณชน หนึ่งในกระแสคือต้องการให้เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (เนื่องจากในปี 2020 เป็นวาระครบรอบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาพอดี) อย่างเช่นในทวิตเตอร์มีกระแส #PresidentCuomo ขึ้นเทรนด์ แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า Cuomo จะไม่มีความสนใจต่อการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามากนัก

ทั้งหมดนี้คือบทบาทของผู้นำในภาวะวิกฤต ประชาชนต้องการทั้งข้อมูล ข้อเท็จจริง ความโปร่งใส และพร้อมจะให้ความร่วมมือหากผู้นำไม่ปกปิด เพราะนี่คือวิกฤตที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของเราทุกคน

อ้างอิง – NYT, FOX

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา