วิบากกรรม อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จากประเมินราคา Ideo Q ผิดพลาด สู่ Ashton Asoke ที่มีปัญหา

จากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดาวรุ่งที่มีคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าเป็นจุดขาย ระยะหลัง อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กลับเจอความผิดพลาดในการทำธุรกิจต่อเนื่อง ลองมาย้อนดูกันว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

อนันดา ดีเวลลอปเม้นต์

เริ่มต้นปี 2542 ด้วยดาวรุ่งดวงใหม่ของอสังหาฯ ไทย

อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ก่อตั้งเมื่อปี 2542 ถือว่าเป็นหน้าใหม่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยในขณะนั้น เพราะเจ้าใหญ่ในตลาดก่อตั้งมานานกว่าหลายสิบปี โดยบริษัทเริ่มด้วยการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรรอบสนามบินสุวรรณภูมิในปี 2549 ก่อนจะเขย่าตลาดอสังหาฯ ด้วยการประกาศรุกตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าในปี 2550

โครงการเด่นที่สุดคือ Ideo Q พญาไท ที่ทั้งใกล้รถไฟฟ้า และมีความพรีเมียม สร้างภาพลักษณ์ให้ อนันดาฯ กลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์คนเมือง และคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการมีที่พักอาศัยติดรถไฟฟ้า ถ้าอธิบายง่าย ๆ ตอนนั้นใครอยากซื้อคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า อนันดาฯ คือชื่อแรก ๆ ที่โผล่ขึ้นมา

อนันดาฯ เติบโตด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวจน IPO ในตลาดหลักทรัพย์ปี 2555 พร้อมกับพัฒนาโครงการรูปแบบต่าง ๆ ที่ยึดเรื่องตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองเอาไว้เหมือนเดิม และปี 2556 ได้ร่วมทุนกับ กลุ่มมิตซุย ฟุโดซัง บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น เพื่อเดินหน้าทำโครงการติดรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์

ปัญหาที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นกับ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์

หลังจากนั้น อนันดาฯ ส่งโครงการคอนโดมิเนียมเล็กใหญ่ออกมามากมาย ประกอบด้วย 6 แบรนด์ย่อยตามระดับสูงไปต่ำคือ Ashton, Ideo Q, Ideo Mobi, Ideo, Elio และ Unio ทั้งยังบุกตลาดแนวราบด้วยบ้านหรู กับทาวน์โฮมที่ยึดหลักตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองเช่นเดิม

อย่างไรก็ตามจากการเติบโตอย่างรวดเร็วมักมาพร้อมปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เสมอ ยิ่งช่วงปี 2560 เป็นต้นไป นับว่ามีปัญหามากมายเกิดขึ้นกับโครงการต่าง ๆ ของ อนันดาฯ อย่างต่อเนื่อง เช่นปี 2562 ที่คอนโดมิเนียมหรู Ideo Q สยาม-ราชเทวี เกิดปัญหาลิฟท์ค้าง และพื้นที่ส่วนกลางต่าง ๆ ใช้งานได้ไม่เต็มที่

กรณีดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของ อนันดาฯ ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ในปี 2562 ยังมีอีกเหตุการณ์สำคัญในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย นั่นคือการพับโครงการ Ideo Q พหลฯ-สะพานควาย แม้จะเปิดให้จองซื้อห้องชุดของโครงการดังกล่าวไปแล้วก็ตาม

วางแผนไม่เหมาะสมจนต้องพับโครงการ

เรื่องของ Ideo Q พหลฯ-สะพานควาย เริ่มจากการเปิดจองในเดือน พ.ค. 2562 และมีคนแห่งจองเกือบครึ่งหนึ่งของเฟสแรก เพราะจุดเด่นเรื่องห่างจาก BTS สถานีสะพานควาย 0 ม. แต่ด้วยราคาเริ่มต้นในขณะนั้นที่ 5.5 ล้านบาท กับห้องขนาด 26 ตร.ม. หรือ 2.2 แสนบาท/ตร.ม. จึงอาจสูงเกินไป และไม่จูงใจผู้ซื้อมากพอ

ยิ่งถ้าไปเทียบกับคอนโดมิเนียมที่อารีย์ หรือย่านสุขุมวิท กับสีลม-สาทร ที่ขณะนั้นราคาพอ ๆ กับ Ideo Q พหลฯ-สะพานควาย พื้นที่เหล่านั้นจูงใจกว่าย่านสะพานควายอย่างชัดเจน ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจช่วงนั้นไม่สู้ดี ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อมากพอจะจับจ่ายโครงการนี้ทั้งหมด จึงไม่แปลกที่ อนันดาฯ ต้องพับโครงการนี้ก่อน

หลังจากประกาศพับโครงการ อนันดาฯ ได้ลดระดับโครงการดังกล่าวจาก Ideo Q เป็น Ideo เพื่อตอบโจทย์ทั้งกำลังซื้อ และวางราคาให้เหมาะสมกับพื้นที่ แม้จะมีความโดดเด่นเรื่องติดกับรถไฟฟ้า 0 กม. เช่นเดิมก็ตาม โดยช่วงแรกคาดว่าจะเปิดตัวในต้นปี 2563 แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ล่าสุดคือ Ashton Asoke ที่ยังไม่รู้จะออกหน้าไหน

นับตั้งแต่เศรษฐกิจในประเทศซบเซา ไล่มาจนการระบาดของโรค COVID-19 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ และมีหลายโครงการต้องชะลอการเปิดตัว แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ใช่เหตุผลของการถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม Ashton Asoke ของ อนันดาฯ

แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะเปิดจำหน่ายตั้งแต่ปี 2557 และปัจจุบันมีการโอนกรรมสิทธิ์เกือบครบทั้ง 783 ยูนิตแล้ว แต่หากถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ก็คงสร้างผลกระทบกับผู้อยู่อาศัยในอาคารนี้แน่นอน แถม Ashton Asoke ยังมีปัญหาเรื่องทางเข้าอาคารมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่สุดท้ายก็เจรจากับเจ้าของพื้นที่ได้

ในทางกลับกัน ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ได้ออกมายืนยันว่า จะต่อสู้ทางกฎหมายเต็มที่ พร้อมยืนยันการก่อสร้างอาคารนี้ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน ซึ่งก็ต้องดูกันว่า สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา