นักวิเคราะห์คาด กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เท่าเดิม มองนโยบายช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

Brand Inside รวบรวมมุมมองจากนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์จะถึงนี้ โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% เท่าเดิม

Thai Baht Note ธนบัตร 50 บาท
ภาพจาก Shutterstock

เริ่มต้นด้วยมุมมองสถาบันการเงินต่างประเทศกันก่อน โดย Krystal Tan นักวิเคราะห์ของ ANZ สถาบันการเงินจากประเทศออสเตรเลีย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% โดยมองว่าจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ที่ทำให้เกิดแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยได้ชะลอตัวลงจากการล็อกดาวน์บางพื้นที่ของประเทศไทย

นอกจากนี้ทาง ANZ ยังอ้างอิงจากคำพูดของตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยของการระบาดรอบใหม่จะไม่สร้างผลกระทบเท่ากับการระบาดรอบแรก ขณะเดียวกันภาคส่วนอื่นๆ ของไทยกำลังค่อยๆฟื้นตัว ทำให้โอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นไปได้น้อยลง

ขณะเดียวกัน ANZ มองว่ามาตรการทางการคลังของรัฐบาลมีความสำคัญมากกว่า และเป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐบาลซึ่งกำลังออกมาตรการเยียวยาออกมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณราวๆ 200,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการคนละครึ่งที่เปิดรับประชาชนเข้าเพิ่มเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทาง ANZ มองว่ามาตรการดังกล่าวทั้งหมดอาจยังไม่เพียงพอ จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องมีมาตรการอื่นๆ ออกมา

ทางด้านของ UOB สถาบันการเงินจากสิงคโปร์มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนนโยบายที่ 0.5% ไปตลอดปี 2021 นี้ แต่ UOB กังวลถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ก่อนที่ไทยจะได้รับวัคซีน

มาที่มุมมองสถาบันการเงินในประเทศไทยอย่าง กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีมุมมองว่า กนง. จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 3 ก.พ. ทั้งนี้การบริโภคภาคเอกชนเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% โดยธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่าเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวแต่ยังไม่ทั่วถึงและเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ขณะเดียวกันก็มีมุมมองว่าทางการจะยังคงให้ความสำคัญกับการกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุดเพื่อมุ่งเน้นประสิทธิผลมากกว่าการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบในลักษณะเหวี่ยงแห

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามเดิม เนื่องจากภาครัฐเพิ่งมีการออกมาตรการเพิ่มเติมทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและมาตรการการคลัง โดยเม็ดเงินที่ใช้ในมาตรการการคลังในรอบนี้มีขนาด 1.4% ของ GDP ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดกระลอกใหม่ได้พอสมควร อย่างไรก็ดีต้องรอดูผลการประเมินเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงมาตรการทางการเงินการคลังเพิ่มเติมที่จะออกมา ถ้าหากทิศทางนั้นแย่กว่าคาดก็อาจทำให้ กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ