วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการซื้อกิจการของ Tesco Lotus ในประเทศไทย หลังจากที่กลุ่มทุนไทยซื้อกิจการทั้งไทยและต่างประเทศจนอาจเหลือผู้เล่นไม่กี่รายที่สนใจในการซื้อกิจการครั้งนี้
หลังจากที่เมื่อวานนี้ Tesco เชนเจ้าของกิจการค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ อาจตัดสินใจขายกิจการในประเทศมาเลเซีย และนอกจากนี้ยังรวมไปถึงประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “เทสโก้ โลตัส” ซึ่งบริษัทได้รายงานว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ซึ่งคาดถ้าหากมีการขายกิจการจริงๆ ว่าจะมีมูลค่าสูงสุดถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 272,430 ล้านบาทนั้น
Disclaimer : ความเห็นของผู้เขียนอาจไม่ตรงกับกองบรรณาธิการ Brand Inside ผู้เขียนวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ และแรงจูงใจที่ผู้เล่นแต่ละรายจะเข้ามาซื้อกิจการของ เทสโก้ โลตัส
เข้าใจปัญหาของ Tesco ก่อน
ตั้งแต่หลังช่วงปี 2014 เป็นต้นมา Tesco เองได้ประสบปัญหาใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงกดดันจากคู่แข่งค้าปลีกในทวีปยุโรป เช่น Aldi หรือ Lidl ที่ขายสินค้าราคาถูกกว่า ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างกันสูงขึ้น ตัวเลขผลประกอบการในปี 2014 ที่ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในบริษัท เนื่องจากแจ้งกำไรเกินความเป็นจริง นอกจากนี้หนี้บริษัทที่มีมหาศาลกว่า 17,648 ล้านปอนด์
ก่อนหน้านี้นั้นบริษัทได้ทยอยขายกิจการในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ตุรกี ญี่ปุ่น จีน รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะนำเงินส่วนหนึ่งไปลดหนี้ของบริษัท และเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมก็ตาม
นอกจากนี้ CEO ที่ช่วยบริษัทอย่าง Dave Lewis ก็ได้ประกาศลาออกล่วงหน้า มีผลในช่วงฤดูร้อนของปี 2020 แม้ว่าจะได้นายใหญ่คนใหม่อย่าง Ken Murphy ยิ่งทำให้ความท้าทายของ Tesco มากขึ้นหลังจากนี้
ขณะที่กิจการในประเทศไทยนั้นมีการคาดการณ์ว่ามูลค่ากิจการอาจอยู่ประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนของประเทศมาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกำไรของ 2 ประเทศนี้คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของกำไร Tesco ที่มาจากนอกสหราชอาณาจักร
แล้วในไทยความเป็นไปได้คือใคร?
CPALL เต็งหนึ่งแต่อาจไม่เต็งหนึ่ง
สำหรับเต็ง 1 ที่ทุกคนคาดว่าน่าจะเป็นคนซื้อกิจการของ เทสโก้ โลตัส กลับมาคือ บมจ. CPALL ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ซื้อ Siam Makro กลับมาจากกลุ่ม SHV จากเนเธอร์แลนด์มูลค่าประมาณ 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2013 ทำให้คาดว่าบริษัทก็เป็น 1 ในผู้ที่สนใจที่จะซื้อกิจการเพื่อต่อจิ๊กซอว์สำคัญของธุรกิจค้าปลีกกลับมา เนื่องจาก Tesco ได้เข้ามาซื้อกิจการของ โลตัส ในประเทศไทยในช่วงปี 1998 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง มูลค่าประมาณ 365 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้อาจไม่ได้ง่ายขนาดนั้นถ้าหาก CPALL กลับมาซื้อกิจการอีกครั้ง เนื่องจาก CPALL อาจต้องเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทในการไฟแนนซ์การซื้อกิจการของ Siam Makro ที่เงื่อนไขนั้นยุ่บยั่บ (เช่น เงื่อนไขสัดส่วนทางการเงิน) นอกจากนี้ยังจะทำให้สัดส่วนหนี้สินของบริษัทพุ่งสูงขึ้นไปอีกครั้งซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะลดหนี้ลงมา
ยกเว้นกรณีเดียวคือกลุ่ม CP (CP Group) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CPALL จะซื้อกิจการของ เทสโก้ โลตัส กลับมาเป็นเจ้าของเอง ซึ่งจะลดปัญหาในกรณีที่กล่าวไปได้ และสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินได้มากกว่า
ศึกการแย่งชิงของผู้เล่นน้อยราย
อย่างไรก็ดีเกมการซื้อกิจการครั้งนี้อาจมีผู้สนใจรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งจะได้ธุรกิจ Hypermarket มาทันทีและสามารถเพิ่มสาขาของธุรกิจค้าปลีกได้ทันที อย่างไรก็ดีเราจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจของกลุ่ม TCC ในช่วงที่ผ่านมาพยายามที่จะมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง
ที่ผ่านมาเราจะเริ่มเห็นการจัดพอร์ตโฟลิโอของกลุ่ม TCC ไม่ว่าจะเป็นการ Spin-off ธุรกิจออกมา เช่น ธุรกิจเบียร์ หรือการนำธุรกิจเรือธงทยอยเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าหากกลุ่ม TCC ต้องการที่จะซื้อกิจการของ เทสโก้ โลตัส ก็ต้องมีต้นทุนทางการเงินที่ไม่น้อยจากความ Aggressive ในการซื้อกิจการ
ขณะที่ Central Retail ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจซื้อกิจการของ เทสโก้ โลตัส แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Tops ซึ่งอาจเป็นการขยายธุรกิจแบบติดจรวดไวที่สุดของกลุ่ม แต่สิ่งที่แลกมาก็คือมีความเป็นไปได้ที่จะอาจต้องเลื่อนการ IPO ของ Central Retail ออกไปก่อน หรือไม่คืออาจต้องเปลี่ยนตัวเลขในการระดมทุนรอบนี้ใหม่หมด
สำหรับกลุ่ม PTT ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก โดยในปี 2011 ทางกลุ่มสนใจที่จะซื้อกิจการของ Carrefour แต่พลาดไปอย่างน่าเสียดาย และนี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของกลุ่ม PTT ที่จะกลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้บริษัทจะได้ Know-how ในเรื่องค้าปลีกเพิ่มกว่าเดิมด้วย ขณะที่เรื่องเม็ดเงินในการซื้อกิจการนั้นค่อนข้างดูดีกว่าคนอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้จากผู้เล่นรายอื่นๆ แต่คาดว่าเป็นไปได้น้อยมากๆ คือกลุ่ม Private Equity จากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง Tesco ได้ขายกิจการในประเทศเกาหลีให้กับกลุ่ม Private Equity ซึ่งได้ราคาที่ดีมากๆ ขณะเดียวกันกองทุนความมั่งคั่งของประเทศอื่นๆ ที่อาจสนใจร่วมทุนกับ Private Equity หรือแม้แต่กลุ่มทุนไทยในการไฟแนนซ์เม็ดเงินหลักแสนล้านบาทนี้
อาจเป็น Timing ที่แย่ที่สุดของ Tesco
อย่างไรก็ดีด้วยมูลค่าการขายสินทรัพย์ในประเทศไทยและมาเลเซียของ Tesco อาจเป็น Timing ที่แย่ที่สุดในการขายกิจการเนื่องจากความท้าทายหลักๆ คือเรื่องของการเข้ามาของ E-commerce ในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งเป็นความเสี่ยงของผู้ที่ซื้อกิจการต่ออาจขอส่วนลดราคาที่อาจต่ำกว่าคาดไว้ ขณะที่ Tesco ต้องการเม็ดเงินที่มากที่สุด
ขณะเดียวกันถ้าหากพิจารณาถึงผู้เล่นที่เข้ามาในเกมนี้ที่อาจมีความเป็นไปได้ว่ามีเพียงไม่กี่ราย ยิ่งทำให้ความน่าสนใจของ เทสโก้ โลตัส ลดน้อยลงไปอีก และยิ่งกลุ่มทุนของไทยนั้นได้ใช้เงินไปกับการซื้อกิจการใหญ่ๆ ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาแบบมันส์มือมากนั้น ยิ่งเป็นความยากลำบากของ Tesco ที่จะหาราคาได้เหมาะสม
แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องจับตามองว่า Tesco จะขายที่ราคาเท่าไหร่ และใครเป็นผู้ที่สนใจซื้อจริงๆ นอกจากนี้ถ้าหากการขายกิจการใน 2 ประเทศเกิดขึ้นมาจริงๆ ในปี 2020 เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่าติดตามอีกเรื่องไม่น้อยในวงการค้าปลีกของอาเซียน
Update: 12/12/2019: กลุ่ม PTT ได้ออกมากล่าวว่าไม่สนใจในการซื้อกิจการของ เทสโก้ โลตัส แล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา