Brand Inside วิเคราะห์การซื้อสิทธิ์ดูแล Starbucks ในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มไทยเบฟเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุน รวมไปถึง Maxim Group ผู้ร่วมทุนอีกรายซึ่งไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่แต่อย่างใด
หลังจากที่ Starbucks ได้ประกาศว่า สาขาทั้งหมดในประเทศไทยได้ผู้ดูแลแทนบริษัทแม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากการขายสิทธิ์ดูแลในประเทศไทย ให้กับ Coffee Concepts Thailand ซึ่งเป็นการเป็นการร่วมทุนระหว่าง Maxim’s Caterers Limited ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิ์ดูแลร้าน Starbucks ใน กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกงและมาเก๊า มีสาขามากกว่า 400 สาขา และหุ้นส่วนฝั่งประเทศไทยคือ F&N Retail Connection Co. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟ ซึ่งได้จดทะเบียนไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
- สตาร์บัคส์ในไทยได้ผู้ดูแลใหม่แล้ว เครือไทยเบฟฯ ถือหุ้นด้วย บริษัทแม่เน้นบุกตลาดจีนเต็มตัว
- แถลงอย่างเป็นทางการ F&N ซื้อสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ผ่านกิจการร่วมค้า Coffee Concepts
1. กลุ่มไทยเบฟลงมาเล่นเกมนี้เต็มตัว
ก่อนหน้าที่จะเกิดดีลใหญ่นี้ขึ้นมา กลุ่มไทยเบฟถือเป็น 1 ใน Supplier ของ Starbucks ในประเทศไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำคัญอย่าง นมสดจาก F&N และผลิตภัณฑ์อย่างวิปครีม ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญ แต่หลังจากการซื้อสิทธิ์ดูแลในประเทศไทยแล้ว จะกลายเป็นว่ากลุ่มไทยเบฟไม่ต้องมาพะวงเรื่องสินค้าของตัวเองจะไม่ได้ส่งให้ร้านอีกต่อไป เปรียบเทียบได้กับว่าได้กลับมาเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของ Starbucks ในไทยเลยทีเดียว
ดีลนี้ยังแสดงให้เห็นว่ากลุ่มไทยเบฟต้องการการลงมาในอุตสาหกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่มแบบเต็มรูปแบบมากขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตเหมือนเดิมอีกต่อไป หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ซื้อสาขาทั้งหมดของร้านไก่ทอดชื่อดังอย่าง KFC มูลค่ากว่า 11,300 ล้านบาท รวมไปถึงการซื้อกิจการร้านอาหารอื่นๆ อีกด้วย
ยังรวมไปถึงความชัดเจนในการเดินเกมการร่วมทุน หรือจับมือกับบริษัทต่างประเทศในช่วงปีหลังๆ ของกลุ่มไทยเบฟเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก แถมยังได้ Know How ต่างๆ ที่ได้จากกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งการซื้อสิทธิ์ดูแลของ Starbucks ในประเทศไทยนี้ก็เช่นกัน เป็นข้อดีหลังจากกลุ่มไทยเบฟได้ซื้อกิจการของ F&N ในประเทศสิงคโปร์ในปี 2012 ที่ผ่านมา
อีกเรื่องที่เราจะมองข้ามไม่ได้เลยคือเรื่องของเม็ดเงินที่นำมาซื้อสิทธิ์ดูแล ซึ่งดีลดีๆ แบบนี้ไม่ได้มาบ่อยๆ ฉะนั้นแล้วการร่วมทุนกับผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ร้าน Starbucks ในหลายๆ ประเทศ อย่าง Maxim Group จึงเป็นทางออกที่ดี ทำให้กลุ่มไทยเบฟแทบไม่จำเป็นต้องกู้เงินหรือหาเม็ดก้อนใหญ่ โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้โดนบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมา เนื่องจากภาระหนี้ก้อนใหญ่จากการซื้อกิจการ Sabeco ในเวียดนาม
2. Maxim Group หน้าใหม่ที่ไม่ใหม่
หนึ่งในผู้ถือหุ้นใน Coffee Concept Thailand คือ Maxim’s Caterers ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Maxim Group โดยบริษัทดำเนินธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ เช่น จัดเลี้ยง ฯลฯ รายใหญ่ของฮ่องกง โดยมีผู้ถือหุ้นคือ กลุ่มผู้ก่อตั้งชาวฮ่องกง และ Dairy Farm International ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกในฮ่องกง (แต่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์) ที่มีธุรกิจในหลายๆ ประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ กัมพูชา ฯลฯ
สำหรับการเข้ามาในอาเซียนและในไทยของ Maxim Group นั้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าไหร่นัก เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มไทยเบฟและ Maxim Group เคยตั้งบริษัทร่วมทุนกันมาก่อนแล้วในการนำร้านเบเกอรีชื่อดังอย่าง MX เข้ามาในประเทศไทย ในชื่อว่า บริษัท แม็กซ์ เอเชีย จำกัด
นอกจากนี้ Maxim Group ยังเป็นผู้ดูแลสิทธิ์ของร้าน Starbucks ในอาเซียนหลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม รวมไปถึงได้รับสิทธิ์ให้ดูแลสาขาในประเทศพม่าในปี 2018 สดๆ ร้อนๆ และยังรวมไปถึงสาขาร้านอาหารของกลุ่มในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ ฯลฯ
สรุปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยเบฟกับทาง Maxim ในการดูแลร้าน Starbucks ในประเทศไทยนั้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าไหร่นักเพราะทั้ง 2 ได้จับมือกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว
3. อนาคตหลังจากนี้ของการร่วมทุน
สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นหลังจากนี้หลังจากการร่วมทุนระหว่างกลุ่มไทยเบฟและ Maxim’s Caterers คือเรื่องของการขยายสาขาในประเทศไทยที่คาดว่าจะมีความไวมากกว่าเดิมอีกมาก เช่น ในพื้นที่อสังหาของกลุ่ม TCC เราอาจได้เห็นร้านกาแฟอย่าง Starbucks เพิ่มมากขึ้น หรือพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งกลุ่มไทยเบฟมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก
ไม่เพียงแค่สำหรับสถานที่เท่านั้นแต่สินค้าของเครือไทยเบฟจะได้เป็น Supplier มากขึ้น อาจไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์นมอย่างเดียวแล้วด้วยซ้ำ แต่อาจเป็นผลิตภัณฑ์จาก F&N ที่เป็นกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยมเหมาะกับร้านอย่าง Starbucks มากขึ้น เช่น น้ำผลไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ F&N ถนัด
ขณะที่ผู้ร่วมทุนอย่าง Maxim Group ก็ได้ขยายอาณาจักรในอาเซียนมากยิ่งขึ้นไปในตัว และยังส่งผลดีไปยัง Dairy Farm ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 50% ด้วย แน่นอนว่าการร่วมทุนครั้งนี้ทำให้รายได้ของ Dairy Farm เพิ่มมากขึ้น หลังจากรายได้รวมของบริษัทในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเติบโตน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ราคาหุ้นตกลง
สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหลังจากนี้คือสาขา Starbucks ในประเทศลาวยังไม่มี จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่บริษัทร่วมทุนใหม่นี้อาจสนใจเข้าไปซื้อสิทธิ์บริหารในประเทศลาว ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่ยังไม่มีสาขาของ Starbucks ด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา