วิเคราะห์ ถ้าหากกลุ่มจุฬางกูรอาจขายหุ้นนกแอร์ให้กับแอร์เอเชีย จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

Brand Inside วิเคราะห์ความเป็นไปได้ถึงถ้าหากตระกูลจุฬางกูรขายหุ้นให้กับกลุ่มไทยแอร์เอเชีย หลังจากนี้เราจะได้เห็นอะไรจากการควบรวมกิจการทั้ง 2 นี้

ภาพจาก Shutterstock

สำนักข่าว Reuters ได้รายงานว่าผู้บริหารของแอร์เอเชียจากประเทศมาเลเซีย รวมถึงผู้บริหารจาก บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV ซึ่งทั้ง 2 เป็นผู้ถือหุ้นสายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้ติดต่อพูดคุยกับตระกูลจุฬางกูร เพื่อที่จะขอซื้อหุ้นของนกแอร์จำนวน 55% คาดว่ามูลค่าจะอยู่ประมาณ 5,400 ล้านบาท ปัจจุบันนกแอร์มีมูลค่าตลาดประมาณ 9,823 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี Brand Inside ขอวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของดีลนี้ ถ้าหากดีลนี้เกิดขึ้นจริงๆ แม้ว่าผู้บริหารของนกแอร์ได้ออกมาปฏิเสธถึงข่าวนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม

แอร์เอเชียจะได้อะไรบ้าง

สำหรับแอร์เอเชียแล้วการที่ได้ควบรวมกิจการของนกแอร์จะทำให้แอร์เอเชียได้เส้นทางการบินใหม่ๆ หรือแม้แต่ใน  จังหวัดรองๆ ของประเทศไทย เช่น แม่สอด แม่ฮ่องสอน ฯลฯ โดยจังหวัดเหล่านี้จะทำให้ AirAsia สามารถให้บริการได้ทันที และยังรวมไปถึงเส้นทางบินในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีนบางเส้นทางที่บริษัทไม่มีอีกด้วย

นอกจากนี้จะทำให้แอร์เอเชียเป็นผู้นำในตลาด Low Cost เส้นทางบินในประเทศไทยทันที ทิ้งห่าง Thai Lion Air ซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองมากในขณะนี้ รวมไปถึง Thai VietJet Air ปัจจุบันเส้นทางบินในประเทศไทยแอร์เอเชียมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 30.7% ขณะที่เส้นทางต่างประเทศมีส่วนแบ่งการตลาด 13.2%

ยังรวมไปถึงเรื่องของ Economy of scale ในบางเรื่อง รวมไปถึงการใช้ฝูงบินที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ขนาดสายการบินที่ใหญ่ขึ้นยังสามารถต่อรองราคาเครื่องบินจาก Airbus ได้ด้วย

ภาพจาก Shutterstock

ความลำบากก็มาพร้อมเช่นกัน

ถ้าหากว่าไทยแอร์เอเชียได้ซื้อหุ้นจากตระกูลจุฬางกูรในจำนวน 55% ก็จริง แต่ปัญหาที่รุมเร้านกแอร์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสามารถในการฟื้นฟูนกแอร์ให้หายจากสภาวะขาดทุนได้ อาจทำให้แอร์เอเชีย รวมไปถึง AAV ต่างฝ่ายจะต้องทำการเพิ่มทุนนกแอร์อีกรอบเพื่อที่จะฟื้นฟูกิจการของนกแอร์

อีกเรื่องที่เป็นความลำบากคือฝูงบินของนกแอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เครื่องบินของ Boeing แตกต่างกับของแอร์เอเชียที่ใช้เครื่องบินของ Airbus แน่นอนว่าปัญหาเรื่องของการซ่อมบำรุงจะเพิ่มมากขึ้นอีก รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าหากขายเครื่องบินและรวมไปถึงทยอยเลิกเช่าเครื่องบิน แล้วนำเครื่องบินของ Airbus มาแทน ก็ต้องรอดูอีกว่าปริมาณเครื่องบินที่สั่งไปพอกับเรื่องนี้หรือไม่

ยังรวมไปถึงการร่วมทุนระหว่าง Scoot ซึ่งทำเส้นทางบินต่างประเทศซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งกับแอร์เอเชียโดยตรงอีกด้วยว่าหลังจากซื้อกิจการไปแล้วจะออกมาเป็นรูปแบบไหน หรือว่าจะยกเลิกการร่วมทุนของทั้ง 2 ฝ่ายไปเลย

เรื่องสุดท้ายคือวัฒนธรรมและพนักงานของสายการบินทั้ง 2 ว่าหลังจากนี้ถ้าหากได้ซื้อกิจการจริงๆ แล้วพนักงานของนกแอร์จะสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ของแอร์เอเชียได้หรือไม่ ยังไม่นับถึงเรื่องที่ต้องมีการลดจำนวนพนักงานที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนอีก

ภาพจาก Shutterstock

การบินไทยอาจได้ประโยชน์มากที่สุดในเกมนี้

คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดในเกมขายหุ้นให้กับนกลงทุนรายอื่นนี้อาจเป็น การบินไทย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยได้ออกมาประกาศว่าจะไม่เพิ่มทุนรอบที่ 3 สำหรับนกแอร์มาแล้ว และถ้าหากมีการ Tender Offer หลังจากที่แอร์เอเชียได้หุ้นจากตระกูลจุฬางกูรแล้ว อาจทำให้การบินไทยได้ขายหุ้นออกมาทันทีและนำเงินสดที่ได้มาหมุนเวียนในการบินไทยมากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือถึงเรื่องที่การบินไทยอยากจะขายหุ้นของนกแอร์ออกมาตั้งนานแล้ว

หลังจากนี้เราอาจต้องติดตามกลุ่มอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยอย่างไม่กระพริบตา แม้ว่าจะผู้บริหารของนกแอร์จะออกมาปฏิเสธถึงข่าวนี้อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็ตาม แต่ถ้ากลับมามองความเป็นจริง นกแอร์จะแก้ปัญหาขาดทุนได้ภายในช่วงระยะเวลาหลังจากนี้ได้หรือเปล่า

ที่มา – AirAsia, CAPA, Reuters [1], [2]

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ