[วิเคราะห์] dtac ได้ไปต่อ คว้าดีลทีโอที 2300 MHz แต่เรื่องท้าทายยังรออีกเยอะ

จากข่าว dtac ชนะการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลตอบแทนเพื่อเป็นคู่ค้าเพื่อนำคลื่นความถี่ 2300MHz ของทีโอที มาให้บริการ คลิกที่นี่ ตามสัญญาที่มีการเสนอใช้คลื่นความถี่ดังกล่า วจำนวน Bandwidth 60 MHz เป็นระยะเวลา 8 ปี

ข้อกำหนดเบื้องต้นคู่ค้า (กรณีนี้ dtac ได้รับเลือก) ต้องขยายโครงข่ายได้ไม่น้อยกว่า 1,800 แห่งภายในปีแรก ครอบคลุมเมืองหลักภายใน 2 ปี และครอบคลุม 80% ของประชากรภายในระยะเวลา 5 ปี ประเด็นดังกล่าว dtac คาดว่าจะเจรจาจบภายในไตรมาส 4 ปีนี้

ลดภาระคลื่นความถี่ แต่ยังมีเรื่องต้องแก้

การคว้าคลื่นดังกล่าวส่งผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจ โดยปัจจุบัน dtac มีคลื่นความถี่ในครอบครอง 50 MHz แต่คลื่นความถี่ราว 35 MHz กำลังจะทยอยหมดอายุสัมปทานลงในปี 2018 ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยการครอบครองคลื่น 2300 MHz จะช่วยคลายความกังวลดังกล่าวลงไป

แต่ dtac ยังคงต้องเผชิญความท้าทายด้านอื่นๆ เช่น การลงทุนขยายอุปกรณ์รับสัญญานที่ต้องใช้งบประมาณลงทุนเพิ่มเติมราว 1-2 หมื่นล้านบาทและค่าเช่าคลื่นให้ทีโอทีอีก 4,510 ล้านบาทต่อปี รวมถึงความล่าช้าในการเจรจาสัญญา ถือว่ายังมีโจทย์ที่ dtac ยังต้องแก้

การแข่งขันหนักหน่วง โดยเฉพาะการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์

EIC SCB วิเคราะห์ว่า การแข่งขันของผู้ให้บริการมือถือโดยเฉพาะด้านราคารุนแรงอยู่แล้ว โดยรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (Average Revenue Per User: ARPU) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเริ่มคงที่ในระดับ 200 บาทซึ่งลดลงจาก 15 ปีก่อนกว่าครึ่ง รวมถึงผู้เล่นรายอื่นมีคลื่นความถี่ในครอบครองที่เพียงพอต่อการให้บริการปัจจุบันราว 55 MHz

แต่การแข่งขันจะอยู่บริการเสริมบนโครงข่าย เช่น บริการด้านคอนเทนต์ต่างๆ บริการคลาวด์ และบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นตัวเพิ่มรายได้และสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระยะยาว ซึ่งผู้ให้บริการมือถือหลักทั้ง 3 ราย ต่างมีทิศทางธุรกิจชัดเจนว่า จะเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ การแข่งขันด้านคอนเทนต์จึงหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การประมูลคลื่นความถี่ปี 2018 เข้มข้นแน่นอน

การประมูลคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ในปี 2018 ยังคงมีแนวโน้มการแข่งขันสูง โดย dtac ยังคงต้องการคลื่นความถี่ต่ำที่เคยครอบครองเดิมอย่าง 850 MHz ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นต้องการสะสมคลื่นความถี่เพิ่มเพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการ 5G ได้ในอนาคต เนื่องจากมาตรฐานเบื้องต้นของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้กำหนดให้ผู้ที่จะให้บริการ 5G ต้องมีแบนด์วิธอย่างน้อย 100 MHz

ดังนั้นเชื่อว่า ปีหน้า (2018) การแข่งขันเพื่อแย่งชิงคลื่นความถี่จะหนักหน่วงขึ้น ซึ่งข้อได้เปรียบของ dtac คือ ยังไม่มีภาระหนี้ผูกพัน ขณะที่ AIS และ True มีอยู่ในหลักแสนล้านบาทจากการประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz เมื่อปีที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา