กรณีศึกษาจากต่างประเทศ เมื่อโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วเป็นไงบ้าง?

การที่สถานศึกษาจากต่างประเทศเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือระดมทุนในวิธีต่างๆ สุดท้ายแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องกรณีศึกษาหลังจากสถานศึกษาแห่งหนึ่งในประเทศไทยกำลังจะเข้าตลาด

ภาพจาก Pixabay

นักลงทุนไทยบางส่วนกำลังอาจตื่นเต้นที่มีหุ้นสถานศึกษาแห่งหนึ่งกำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าอาจทำให้โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอาจเน้นทำกำไรมากเกินไป และสถานศึกษาที่กำลังจะเข้าตลาดฯ เป็นรายแรกนั้นอาจทำให้สถานศึกษารายอื่นๆ เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไปได้

Brand Inside เลยขอเสนอกรณีศึกษาจากต่างประเทศกรณีสถานศึกษาเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือการระดมทุนที่น่าสนใจ หรือแม้แต่การกำกับดูแลของรัฐบาลแต่ละประเทศทำอย่างไรคร่าวๆ สำหรับคนที่สนใจหุ้นหรือสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ในไทยไม่ใช่รายแรกแน่นอน

ถึงแม้ว่าสถานศึกษาแห่งหนึ่งที่กำลังจะเข้าตลาดจะเป็นรายแรกในการเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จริง แต่จริงๆ แล้วไทยเรามีสถานศึกษาเอกชนที่เป็นเหมือนบริษัทลูกบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ซึ่งสถานศึกษานั้นคือมหาวิทยาลัย Stamford ที่หัวหินซึ่งเป็นหนึ่งสถานศึกษาในกลุ่ม Laureate International Universities ซึ่งมีมหาวิทยาลัยมากถึง 60 แห่ง กระจายทั่วโลกกว่า 250 แห่ง โรงเรียนแพทย์อีก 23 แห่ง

แล้วมีอะไรที่ระดมทุนได้บ้าง

สถานศึกษาในต่างประเทศมักจะนิยมใช้วิธีระดมทุนอยู่ 2 ทาง

  1. นำสถานศึกษาเข้าจดทะเบียน (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศต่างๆ เพื่อที่จะระดมทุน
  2. การนำอาคารของสถานศึกษามาออกเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT 

ซึ่งแล้วแต่ว่าเจ้าของสถานศึกษาแห่งนั้นๆ จะใช้วิธีใดในการระดมทุน

ต้องมองย้อนกลับไปว่าปัญหาของสถานศึกษาที่อยากเข้าระดมทุนอย่างหนึ่งคือปัญหาของหนี้ โดยเฉพาะจากการสร้างอาคารรวมไปถึงสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง หรือบางกรณีเช่นกอง REIT ในต่างประเทศลงทุนร่วมสร้างสถานศึกษาใหม่ไปเลยก็มี อย่างเช่นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือว่าการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับไม่ว่าจะเป็น REIT ที่ลงทุนในหอพักนักศึกษา ซึ่งได้รับความนิยมในต่างประเทศ เช่น ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา อย่างมาก

1 ในการลงทุนของ Emirates REIT คือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับการศึกษาในดูไบ – ภาพจาก Emirates REIT

ในต่างประเทศมีหุ้นที่ลงทุนแนวนี้อะไรบ้าง

สำหรับหุ้นหมวดการศึกษาในต่างประเทศถือว่าเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมไม่น้อยจากนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนมองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตเนื่องจากประชากรควรที่จะได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นและดีขึ้น และยิ่งตลาดในเอเชียอย่างจีนแล้วนักลงทุนยิ่งสนใจมาก Brand Inside ยกตัวอย่างหุ้นมาให้เห็นคร่าวๆ

โรงเรียนอนุบาล / โรงเรียน

  • RYB Education ในประเทศจีน
  • Bright Horizons Family Solutions ในสหรัฐอเมริกา
  • Evolve Education Group ในประเทศนิวซีแลนด์
  • Bright Scholar Educational Holdings อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ แต่กิจการอยู่ในจีน
  • OneSmart อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ แต่กิจการอยู่ในจีน

มหาวิทยาลัย (มีอีกเยอะมากๆ)

  • Laureate Education ที่ได้กล่าวไปข้างต้น
  • Adtalem Global Education อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ
  • Apollo Education Group อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ
  • National American University Holdings อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ

ไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่าง Pearson ซึ่งเป็นผู้ผลิตตำราหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นบริษัทจำกัดมหาชนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนเช่นกัน หรือหุ้นที่เน้นการติวออนไลน์ชื่อดังในประเทศจีนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อย่าง TAL Education ก็ถือว่าอยู่ในหมวดนี้ด้วย

ภาพจาก Pixabay

อย่าคิดว่าจะดี

ไม่ใช่ว่าหุ้นในกลุ่มนี้เข้าตลาดทุกตัวจะมีกำไรแล้วทำให้หุ้นขึ้นแบบสวยงามเหมือน Growth Stock เพราะว่าหุ้นกลุ่มนี้ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ “การกำกับดูแลจากรัฐบาล” ที่มองว่าสถาบันการศึกษาเหล่านี้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วเอารัดเอาเปรียบนักเรียนหรือผู้ปกครองมากเกินไปหรือไม่

ในสหรัฐอเมริกาหุ้นในกลุ่มการศึกษาหลายตัวนั้นไม่ได้ Outperform ตลาดด้วยซ้ำ บางรายขาดทุนก็มี ยกตัวอย่างเช่น Laureate Education ที่เป็นเจ้าของ Stamford International University ในประเทศไทย โดยผลตอบแทน 1 ปี ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ได้การันตีว่าหุ้นกลุ่มการศึกษาจะดีทุกตัว

กรณีจากประเทศจีน “รถผ้าป่าคว่ำ”

กรณีล่าสุดที่น่าสนใจจากประเทศจีนคือ โรงเรียนอนุบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วมีกำไรท่วมท้นมาก ซึ่งส่วนใหญ่สถาบันการศึกษาเหล่านี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ล่าสุดเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา มีคำสั่งฟ้าผ่ามาจากประธานาธิบดีจีนที่เริ่มเข้มงวดกับเหล่าโรงเรียนอนุบาลในประเทศจีนมากขึ้นหลังจากที่ผู้ปกครองเริ่มบ่นว่าราคาค่าเทอมเริ่มแพงมากเกินไป ซึ่งท้ายที่สุดราคาหุ้นเหล่านี้ตกลงมาหนัก บางหุ้นตกลงมา 40-50% อย่างต่ำๆ 

นอกจากนี้ในจีนยังมีกรณีที่กองทัพปลดแอกประชาชนได้ดำเนินกิจการโรงเรียนอนุบาล ประธานาธิบดีจีนก็สั่งการให้เลิกยุ่งกับกิจการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพด้วย เนื่องจากปัญหาคอรัปชั่น รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ

ประเด็นที่อยากจะเน้นย้ำอีกรอบคือสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกำกับดูแลที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งหุ้นเหล่านี้ค่อนข้าง Sensitive กับปัจจัยเหล่านี้มาก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ