กับคำถามที่หลายคนอยากรู้ Airbnb สั่นสะเทือนวงการโรงแรม จริงหรือไม่?

airbnb-4

หนึ่งใน Startup ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด นอกจาก Uber แล้วก็มี Airbnb บริการจองที่พักจากเจ้าของที่พักโดยตรง ซึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มได้ใช้บริการกันแล้ว โดยเฉพาะการจองที่พักในต่างประเทศ ด้วยระบบที่แจ้งรายละเอียดต่างๆ ชัดเจน สามารถติดต่อพูดคุยกับเจ้าของที่พักก่อนได้ และมีระบบ Rating ให้คนที่เคยพักมารีวิว และที่สำคัญคือ ราคาที่พักถูกกว่าโรงแรมอยู่พอสมควร และยังได้บรรยากาศเหมือนนอนบ้าน (คนอื่น)

ในประเทศไทยนอกจาก Airbnb ก็มีธุรกิจให้บริการในลักษณะคล้ายๆ กัน เช่น favstay ดังนั้น แต่คำถามที่อยู่ในใจใครหลายคนคือ Airbnb หรือธุรกิจลักษณะเดียวกัน มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงแรม อย่างไร

airbnb-1

Airbnb เติบโตก้าวกระโดด กระทบโรงแรมระดับกลาง-ล่าง

SCB EIC ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การเติบโตของ Airbnb ทั่วโลกกว่า 150% ต่อปีตั้งแต่เปิดตัวในปี 2010 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมระดับกลาง-ล่าง จนปัจจุบัน Airbnb มีห้องพักในระบบเปิดให้บริการกว่า 2 ล้านห้องใน 190 ประเทศ เทียบกับบริษัท Marriot ที่มีโรงแรมในเครือใหญ่ที่สุดในโลก มีห้องพัก 1.5 ล้านห้อง

ส่วนแบ่งตลาดของห้องพัก Airbnb ต่อห้องพักโรงแรมตามเมืองท่องเที่ยวหลักๆ เช่น ปารีส ซานฟรานซิสโก และลอนดอน นับว่ายังมีไม่มาก โดยอยู่ที่ราว 10% จะมีแค่นิวยอร์กที่มีส่วนแบ่งตลาด 17% แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการขยายตลาดของ Airbnb ยังมีอีกมาก

จากราคาห้องพักเฉลี่ยที่ต่ำ และราว 50% ของห้องพักซึ่งเป็นประเภท 1 ห้องนอน ทำให้ Airbnb นับเป็นกลุ่มที่เข้ามาแข่งขันกับโรงแรมระดับกลาง-ล่างโดยตรง ยกตัวอย่าง ราคาของห้องพัก Airbnb ในลอนดอนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50-100 ปอนด์ต่อคืน ในขณะที่ราคาของห้องพักในโรงแรมอยู่ที่ราว 145 ปอนด์ต่อคืน หรือ ราคาของห้องพัก Airbnb ในนิวยอร์กเฉลี่ยอยู่ที่ราว 173 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคืน ซึ่งน้อยกว่าราคาห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมในละแวกเดียวกันถึง 37%

airbnb-2

ตปท.ออกกฎหมายควบคุม เปิดทางแข่งขันเต็มตัวเป็นรูปธรรม

แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการออกกฎหมายควบคุมห้องพักซึ่งทำให้การขยายตัวของห้องพัก Airbnb ชะลอตัวลง ซึ่งเหตุผลของการออกกฎหมายควบคุม (ซึ่งในไทยยังไม่มี) เช่น

  • อาจก่อให้เกิดการรบกวนในบริเวณที่พักอาศัยของประชาชน
  • ปัญหาความปลอดภัยของห้องพักที่ไม่ได้มาตรฐานเหมือนกับโรงแรม เช่น ขาดอุปกรณ์ดับเพลิง หรือ พนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยวอาจจะสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของประเทศได้
  • กฎเกณฑ์ทางภาษีที่รัฐบาลไม่สามารถเก็บได้จากการปล่อยเช่าห้องพักของ Airbnb

ปัจจุบันรัฐบาลในหลายประเทศในเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ เริ่มมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อที่จะควบคุมห้องพักประเภทนี้มากขึ้น ส่งผลให้ Airbnb เริ่มมีการปรับตัว โดยการออกกฎและมาตรฐานในการลงทะเบียนห้องพักในระบบที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นที่มีการกำหนดระยะเวลาในการเข้าพัก Airbnb ต้องมากกว่า 7 คืน ในขณะที่ในนิวยอร์กและซานฟรานซิสโกก็มีการกำหนดให้เจ้าของห้องพัก Airbnb สามารถลงทะเบียนปล่อยเช่าห้องพักได้เพียงคนละ 1 ห้อง

อย่างไรก็ตาม เท่ากับว่า Airbnb สามารถเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจโรงแรมได้เต็มตัวอย่างเป็นรูปธรรม จนถึงขั้นขยายตลาดไปยังกลุ่มท่องเที่ยวเชิงธุรกิจได้ ซึ่งปัจจุบัน Airbnb ได้มีการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทบริหารจัดการในการเดินทางอย่าง American Express Global Business travel, BCD Travel, และ Carlson Wagonlit Travel เพื่อบุกตลาดการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจแล้ว

airbnb-3

ลูกค้าหลัก Airbnb ชาวตะวันตกเน้นพักยาว 14-16 วัน

โดยส่วนใหญ่แล้ว นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ Airbnb ทั่วโลกจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมีอายุประมาณ 35 ปี โดยเฉพาะกลุ่มของนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ซึ่ง Airbnb ได้รับรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากถึง 30% ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมเข้าพักใน Airbnb เพราะมักเดินทางด้วยตนเอง ต้องการใช้ชีวิตในการท่องเที่ยวแบบชาวท้องถิ่น รวมถึงต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของที่พักจากการเข้าพักเป็นระยะเวลานาน

สังเกตได้จากนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่มาไทยนั้นมีระยะในการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 14-16 คืน ซึ่งต่างจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย โดยส่วนใหญ่กว่า 71% เป็นชาวเอเชีย มีระยะเวลาพักเฉลี่ยราว 7 คืน ต้องการความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า จึงทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมเข้าพักในโรงแรม แสดงให้เห็นว่าโรงแรมในไทยจึงมีแนวโน้มที่จะยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Airbnb มากนัก

นอกจากนี้ ราคาห้องพักของโรงแรมในไทยใกล้เคียงกับ Airbnb นักท่องเที่ยวจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกพักในโรงแรมมากกว่า โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เป็นตลาดท่องเที่ยวหลักของไทย

ยกตัวอย่าง ราคาห้องพักเฉลี่ยของโรงแรม 3 ดาวใกล้กับสถานีสนามกีฬาแห่งชาตินั้นจะอยู่ที่ราว 2,500 บาทต่อคืน ในขณะที่ราคาห้องพักของ Airbnb ในระดับเดียวกันอยู่ที่ราว 2,000 บาทต่อคืน หรือในเชียงใหม่ ราคาของห้องพักทั้งสองประเภทดังกล่าวที่ใกล้เคียงกันอยู่ที่ราว1,500-2,000 บาทต่อคืน จึงทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเข้าพักในโรงแรมมากกว่า เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวก การมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานและมีแผนกต้อนรับคอยดูแล

favstaty-1
favstay บริการลักษณะคล้ายกับ Airbnb แต่เป็นของคนไทย

อย่าชะล่าใจ นักท่องเที่ยวจีน เริ่มใช้ Airbnb แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่ Airbnb จะเข้ามาเป็นคู่แข่งหลักกับตลาดโรงแรมในไทยในอนาคต จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มหันมาใช้ Airbnb มากขึ้นกว่า 1 ล้านคน และการขยายตัวของห้องพัก Airbnb ในกรุงเทพฯ กว่า 100%

และชาวจีนเปิดรับนวัตกรรม sharing economy หรือ ธุรกิจแบ่งปันมากขึ้น โดยข้อมูลศูนย์ข่าวสารประเทศจีนระบุว่า ชาวจีน 500 ล้านคนเคยใช้ sharing economy แล้ว ทำให้ในปี 2015 Airbnb ได้เข้าไปทำตลาดในจีน โดยร่วมมือกับ Union Pay และ Alipay ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหันมาใช้ Airbnb มากขึ้นและขยายตัวกว่า 500%

ทั้งนี้ การที่ส่วนแบ่งตลาดท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนถึง 27% ทำให้ Airbnb มีโอกาสที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ไม่ยาก อีกทั้ง Airbnb ยังมีการขยายตัวในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนห้องพักในกรุงเทพฯ กว่า 9,000 ห้อง จากปีก่อน 4,000 ห้อง รวมถึง Airbnb นั้นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่ห้องพักในโรงแรมที่มีราคาใกล้เคียงกันไม่สามารถให้ได้ เช่น ขนาดห้องพักที่ใหญ่กว่าในราคาที่ใกล้เคียงกัน และห้องครัวไว้สำหรับการทำอาหาร

pedestrians-918471_1280
ภาพจาก Pixabay.com

รัฐเร่งออกมาตรการควบคุม – ธุรกิจโรงแรมเร่งปรับตัวก่อนสาย

ภาครัฐควรมีมาตรฐานที่ชัดเจนในการควบคุมธุรกิจ Airbnb ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวม โดยควรมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการโรงแรมที่กำลังจะเปลี่ยนไป และต้องครอบคลุมทั้งห้องพักแบบเดิมและห้องพักแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการเก็บภาษี หรือการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการปล่อยเช่าห้องพักเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น

การที่มีห้องพักนอกระบบที่ไม่ได้มาตรฐานมากเกินไปอาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยโดยรวมได้ ภาครัฐควรจะคำนึงถึงการออกกฎหมายให้การแข่งขันของ Airbnb มีความเป็นธรรม เพราะจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการโปรโมทการท่องเที่ยวไทย และเป็นการกระจายรายได้สู่ประชากรโดยตรง

EIC เสนอว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมควรปรับกลยุทธ์เพื่อแข่งขันกับ Airbnb ในอนาคต ไม่ควรลงไปแข่งขันด้านราคาห้องพัก แต่ต้องยกระดับการให้บริการและต้องทำให้ลูกค้าตระหนักถึงความสะดวกสบายจากการให้บริการของโรงแรมที่มากกว่าการเข้าพักใน Airbnb และควรคำนึงว่ากลุ่มลูกค้าของ Airbnb มักต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ จากการเข้าพักระหว่างการท่องเที่ยวมากกว่าการเป็นเพียงที่พักค้างคืน

ส่วนธุรกิจบริการอื่นๆ ยังสามารถต่อยอดธุรกิจของตัวเองโดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ในการให้บริการแก่เจ้าของห้องพัก Airbnb เช่น การรับเข้าไปทำความสะอาด หรือ การรับเป็นจุดฝากกุญแจและการรับเป็น reception ของร้านกาแฟ ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นบริการที่ห้องพัก Airbnb ต้องการ

เรียกว่า Airbnb นำมาทั้งวิกฤตและโอกาส ซึ่งการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโรงแรมที่กำลังเกิดขึ้น คือทางรอดเดียวของธุรกิจ

แหล่งที่มา – SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา