Amazon เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเท่าตัว หวังกระตุ้นพนักงาน พร้อมสร้างยอดขายเติบโตระยะยาว

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่องค์จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับพนักงานทุกคน ยิ่งบริษัทใหญ่ก็ยิ่งยาก แต่ไม่ใช่กับ Amazon.com ที่เตรียมปรับค่าแรงเพิ่ม 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 230 บาท) เป็น 15 ดอลลาร์/ชม. (ราว 490 บาท)

การส่งของใน Amazon.com

การขึ้นค่าแรงที่อาจเพิ่มยอดขายระยะยาวได้

Amazon.com แจ้งว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับพนักงานกว่า 2.5 แสนคนเป็น 15 ดอลลาร์/ชม. ซึ่งการปรับค่าแรงนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป นอกจากนี้ค่าแรงดังกล่าวยังสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ภาครัฐกำหนดไว้ที่ 7.25 ดอลลาร์/ชม. หรือเรียกว่าขึ้นค่าแรงมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัวเลยด้วย

อย่างไรก็ตามในวงการค้าปลีกแล้วการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้คู่แข่งตลอดกาลอย่าง Walmart ก็เคยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ดอลลาร์ เป็น 10 ดอลลาร์/ชม. ให้กับพนักงานกว่า 1 ล้านคนในบริษัทเมื่อปี 2559 และมันก็ทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นสวนทางกับคู่แข่งรายอื่นที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ศูนย์กระจายสินค้าของ Amazon ในสหรัฐ (ภาพจาก Amazon)

“เมื่อพนักงานมีค่าแรงมากขึ้น พวกเขาก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทมากกว่าเดิม จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะขยัน และทำให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Walmart เติบโตสวนทางตลาด” Greg Foran ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Walmart กล่าวเมื่อปี 2559

ดังนั้นโอกาสที่ Amazon.com ที่เพิ่งเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับพนักงานทุกคน ก็น่าจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเช่นกัน เพราะค่าแรงนั้นเพิ่มถึงเท่าตัว ต่างกับ Walmart ที่เพิ่มเพียงเล็กน้อย และยิ่งสถานการณ์การแข่งขันของตลาดค้าปลีกนั้นดุเดือดขึ้นตลอด ก็กระตุ้นพนักงานก็เป็นเรื่องจำเป็น

ภาพจาก Flickr ของ Walmart

ในทางกลับกันก็มีการโจมตีเกี่ยวกับการใช้พนักงานหนักเกินไปของธุรกิจค้าปลีกต่างๆ ก็ทำให้พวกเขาต้องยอมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกัน และนอกจาก Walmart ที่ประสบความสำเร็จจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว Costco ก็เพิ่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 14 ดอลลาร์/ชม. เมื่อต้นปี และมียอดขายที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

สรุป

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นพนักงาน และมันอาจทำให้พนักงานเหล่านั้นมาจับจ่ายซื้อของภายในร้านค้าปลีกของบริษัทได้ด้วย ดังนั้นการยอมเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย เพื่อแลกกับการเติบโตในระยะยาว ก็ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่า

อ้างอิง // Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา