ปลดล็อคธุรกิจเสื้อผ้าออนไลน์ Amazon ส่ง Prime Wardrobe ส่งสินค้าให้ลองฟรี ถ้าชอบค่อยจ่ายเงิน

จากนี้ไปการซื้อเสื้อผ้าออนไลน์จะไม่ผิดไซส์ หรือใส่แล้วไม่เหมือนในรูป เพราะ Amazon เปิดบริการใหม่ให้ลองสวมใส่ก่อน ถ้าชอบค่อยจ่ายเงิน ราวกับไปไปซื้อเสื้อผ้าตามห้างสรรพสินค้า หรือแบรนด์แฟชั่นชั้นนำแล้วได้เข้าห้องลองก่อนซื้อ

Prime Wardrobe กับอีกก้าวของ Ecommerce

ปกติแล้วการซื้อเสื้อผ้าออนไลน์นั้น ผู้บริโภคหลายรายค่อนข้างกังวลในเรื่องขนาด, สี รวมถึงใส่แล้วจะดูดีหรือไม่ ทำให้บางส่วนยอมตัดใจไม่ซื้อ แม้จะอยากได้เสื้อผ้าตัวนั้นแค่ไหน แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะ Amazon ได้คิดบริการใหม่ภายใต้ชื่อ Prime Wardrobe ที่ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถลองสินค้าได้ก่อนชำระเงิน

สำหรับขั้นตอนการใช้บริการนั้น ผู้สนใจต้องเลือกเสื้อผ้า, รองเท้า หรือเครื่องประดับตั้งแต่ 3 ชิ้นขึ้นไป จากนั้นจะมีกล่องพัสดุที่ภายในบรรจุสินค้าที่เลือกเอาไว้ส่งไปให้ฟรี และสามารถลองได้ตามต้องการในระยะเวลา 7 วัน ชิ้นไหนที่ชอบก็เก็บไว้ หากไม่ชอบก็ส่งคืนได้ฟรี ยิ่งถ้าซื้อสินค้าที่เลือกมามากกว่า 5 ชิ้นขึ้นไปก็ได้ลดราคาจากป้ายอีก 20%

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนจะซื้อได้ เพราะต้องสมัครสมาชิก Prime ของ Amazon ในราคา 99 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี เสียก่อน รวมถึงเครื่องแต่งกายก็มีแค่ติดโลโก้ Prime เท่านั้น แต่นั่นก็มีกว่าล้านชิ้นให้เลือกแล้ว ที่สำคัญนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ร้านค้าออนไลน์ให้ลองเสื้อผ้าก่อนชำระเงิน

Stylish ส่วนตัว กับค่าใช้จ่าย 700 บาท

ก่อนหน้าที่ Amazon จะทดลองเปิดให้บริการ Prime Wardrobe ก็มีทั้ง Trunk Club และ Stitch Fix ที่ให้บริการคล้ายๆ กัน ผ่านการจำลองเป็น Stylish ส่วนตัวให้ โดยมีค่าใช้จ่าย 20-25 ดอลลาร์/ครั้ง หรือราว 700 บาท และทางเว็บจะส่งเครื่องแต่งกายให้ผู้สนใจจำนวนหนึ่งเพื่อลองดูก่อน หากพึงพอใจก้สามารถซื้อได้ และยิ่งซื้อเยอะก็ยิ่งมีส่วนลดเยอะเช่นกัน

ภาพ // trunkclub.com/storefronta-mens

ส่วนในไทยก็เริ่มก้าวเข้าสู่จุดนั้นบ้างแล้ว แต่ไม่ใช้ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ เพราะปัจจุบันมีร้าน Sense of Style (SOS) และ CAMP BKK ที่รวบรวมเสื้อผ้าของแบรนด์บนโลก Social Media เอาไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจ แต่ไม่แน่ใจว่าใส่แล้วจะดูดีหรือไม่ มาลองสวมใส่ได้จริง และซื้อได้ภายในร้าน ถือเป็นอีกก้าวในการเดินเกม Online to Offline หรือ O2O ในไทย

สรุป

การจะทำแบบ Amazon ตัวธุรกิจต้อง Scale ได้ระดับหนึ่งก่อน เพื่อนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาชดเชยกัน และถึงจะส่ง รวมถึงไปรับคืนสินค้าที่ลองแบบฟรีๆ ก็ไม่ได้กระทบต่อการเงิน ดังนั้นบริการนี้จะเห็นในประเทศไทยก็คงยาก แต่การที่มีร้านรวมเสื้อผ้าบนโลก Social Media ก็อาจเป็นสัญญาณดีให้รู้ว่า จริงๆ ก็ยังมีคนต้องการเรื่องเหล่านี้อยู่

บรรยากาศภายในร้าน SOS // ภาพจาก Facebook ของ SOS

อ้างอิง // Amazon, Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา