แข่งไม่ไหว ค้าปลีกแดนมะกัน Kohl’s เปิดที่ให้ Amazon ตั้ง Shop-in-Shop สร้างช่องทางรายได้ใหม่

เมื่อแข่งกับศัตรูลำบาก ก็แก้ด้วยการเอาศัตรูมาเป็นมิตรแล้วกัน เพราะล่าสุดอีกยักษ์ใหญ่ค้าปลีกแดนมะกัน Kohl’s ก็เตรียมให้พื้นที่กับ Amazon.com มาเปิด Shop-in-Shop หลัง Ecommerce รายนี้แย่งกำลังซื้อไปเยอะ

ภาพจาก Flickr ของ Mike Kalasnik

แข่งไปก็เหนื่อยเปล่า ยอมโตไปด้วยกันดีกว่า

Kohl’s ก็คือหนึ่งในค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาที่เผชิญกับ Retail Apocalypse เพราะตัวยอดขายนั้นลดลงมา 6 ไตรมาสรวด จนสุดท้ายต้องยอมหันมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่แข่งรายสำคัญที่แย่งกำลังซื้อไปอย่าง Amazon ผ่านการให้พื้นที่ราว 1,000 ตร.ฟุต (ราว 92 ตร.ม.) เพื่อให้ทางนั้นมาเปิด Shop-in-Shop

สำหรับ Shop-in-Shop ของ Amazon ภายใน Kohl’s นั้นจะใช้ชื่อว่า Amazon Smart Home Experience มีทั้งหมด 10 สาขาใน Los Angeles กับ Chicago จะเริ่มให้บริการในเดือนต.ค. ส่วนสินค้าที่จำหน่ายจะเน้นที่กลุ่มอุปกรณ์ Smart Home เช่นลำโพงอัจฉริยะ Amazon Echo เป็นต้น

ภาพ Amazon Echo จากเว็บไซต์ Capital One

ขณะเดียวกันการจับมือระหว่าง Kohl’s กับ Amazon ไม่ใช่ครั้งแรกของวงการค้าปลีก เนื่องจากก่อนหน้านี้ห้าง Best Buy ก็ให้พื้นที่ Shop-in-Shop กับ Amazon เช่นกัน รวมถึง Sears ค้าปลีกอีกรายก็นำเครื่องใช้ไฟฟ้า Kenmore ที่ตัวเองเป็นผู้แทนจำหน่ายขึ้นไปขายบนเว็บไซต์ Amazon

ไม่ใช่ 10 สาขาแน่ๆ หาก Kohl’s อยากผ่านวิกฤต

“ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และมันน่าจะทำให้ Kohl’s ก้าวไปอีกขั้นในโลกของธุรกิจค้าปลีก ไม่ใช่แค่จริงจังกับสินค้าที่ตัวเองนำเข้ามาเอง โดยเฉพาะกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปัจจุบันผู้บริโภคก็เริ่มไปซื้อบนโลกออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการร่วมมือกับ Amazon น่าจะเห็นได้มากกว่านี้แน่นอน” Randal Konik นักวิเคราะห์ของ Jefferies กล่าว

ภาพ pixabay.com

ทั้งนี้หลังจาก Kohl’s ประกาศเรื่องนี้ออกไป ก็ทำให้หุ้นดีดตัว 4% ในทันที นั่นเพราะนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า Shop-in-Shop ของ Amazon จะช่วยเพิ่มยอดผู้เข้าใช้บริการ แม้ปัจจุบันจะมีเพียง 10 สาขา จากสาขาของ Kohl’s ทั้งหมด 1,160 แห่งก็ตาม ประกอบกับหลายฝ่ายยังคาดการณ์ว่าการร่วมมือไม่หยุดเพียง 10 สาขาแน่ๆ

Win-Win แน่นอน และน่าจะเกิดขึ้นกับผู้ค้ารายอื่น

การร่วมมือระหว่างร้านค้าออฟไลน์ กับออนไลน์นั้นน่าจะเกิดขึ้นมากกว่านี้แน่นอน เพราะทางฝั่งออนไลน์อย่าง Amazon ก็ได้ประโยชน์ในการนำสินค้าตัวเอง โดยเฉพาะ Echo มาให้คนทั่วไปรู้จัก และจับต้องได้มากขึ้น ส่วนทางค้าปลีกทั่วไปก็สามารถสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ และปลดล็อคการจำหน่ายแค่สินค้าเดิมๆ ได้

สรุป

ถ้าหาก Ecommerce ที่ให้บริการในประเทศไทย มีสินค้าเป็นของตัวเองเมื่อไหร่ ส่วนตัวเชื่อว่าจะได้เห็นโมเดลแบบนี้แน่ๆ เพราะการโตไปด้วยกันน่าจะเป็นทางออกที่แข่งกันอย่างไม่สิ้นสุด แม้ฝั่งค้าปลีกดั้งเดิมจะพยายาม Go Online แค่ไหน แต่นั่นก็คงสู้กลุ่มทุนเดิมที่ครองตลาดได้ยากอยู่ดี

อ้างอิง // Fortune, Engadget

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา