รู้จักกับ JD.com อเมซอนแห่งจีนตัวจริง คู่แข่งรายสำคัญของ Alibaba

คนไทยคงรู้จัก Alibaba กันเป็นอย่างดีจากความโด่งดังของ Jack Ma และเขาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำแห่งวงการอีคอมเมิร์ชจีน และคู่แข่งอันดับหนึ่งอย่าง JD.com กลับถูกลืมไปอยู่เสมอๆ ด้วยความที่ แต่ลักษณ์ของ JD.com กลับวางตัวให้เหมือนกับ Amazon.com เป็นอย่างยิ่ง ทั้งแนวทางการวางระบบขนส่ง (logistic) ด้วยตัวเองทั้งหมด และการลงทุนอย่างหนักเพื่อหวังกำไรในระยะยาว

ภาพ Richard Liu กับ Lei Jun ประธานและซีอีโอของ Xiaomi เมื่อเดือนกันยายนปี 2016 (ที่มาภาพ weibo.com/liuqiangdong)

JD.com ก่อตั้งโดย Richard Liu เมื่อปี 1998 (ก่อนหน้า Alibaba หนึ่งปี) แต่ชื่อแรกคือ Jingdong Century Trading Co., Ltd เป็นหน้าร้านออนไลน์ขายอุปกรณ์ maneto-optical เฉพาะทางเท่านั้น จนกระทั่งในปี 2004 จึงหันมาทำธุรกิจ B2C ในชื่อเว็บ jdlaser.com นับเป็นจุดเริ่มต้นของ JD.com ที่เราเห็นทุกวันนี้

บริษัทเติบโตเป็นอย่างดีเรื่องมา จนกระทั่งมีลูกค้า 47.4 ล้านคนในปี 2013 และจุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2014 Tencent ยอมแพ้ในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และหันมาลงทุนใน JD.com แทนโดยเข้าซื้อหุ้น 15% พร้อมกันยกธุรกิจอีคอมเมิร์ชในเครือให้ JD.com ทั้งหมด ในปีเดียวลูกค้าของ JD.com เติบโตเท่าตัวเป็น 90.6 ล้านคน พร้อมกับจำนวนรายการสั่งซื้อที่เพิ่มเป็นสองเท่า

เครือข่ายลอจิสติกของ JD.com มีโกดังถึง 254 แห่ง และพนักงานส่งสินค้ากว่าหกหมื่นคน

แนวทางที่ JD.com แตกต่างจาก Alibaba คือการลงทุนในโครงข่ายลอจิสติกอย่างหนัก บริษัทลงทุนในรถขนส่งสินค้า, แพ็กเกจ, และการสต็อกสินค้าอย่างหนัก โครงข่ายที่ลงทุนไปทำให้ JD.com สามารถให้บริการส่งด่วนแบบเดียวกัน Amazon ได้ ตัว Liu เคยสั่งไอศครีมจากเว็บของตัวเองและพบว่ามันละลายไปเล็กน้อยเมื่อมาถึงมือ เขาเรียกประชุมผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหานี้ เฉพาะพนักงานขนส่งสินค้าของ JD.com มีมากกว่า 62,000 คน พนักงานรวมถึง 115,811 คน เทียบกันพนักงานทั้งหมดของ Alibaba ที่มีประมาณ 46,000 คน

ตู้รับสินค้าอัตโนมัติแบบเดียวกับ Amzon ที่ JD.com มีให้บริการตั้งแต่ปี 2012

การลงทุนทำให้ JD.com มียอดขายเติบโตอย่างรวดเร็ว และครองความเป็นเว็บอีคอมเมิร์ชอันดับสองไว้ได้ แม้ Alibaba จะแข็งแกร่งมากก็ตาม แต่ก็จ่ายมาด้วยการลงทุนที่สูงจนกระทั่งบริษัทขาดทุนต่อเนื่อง Liu เคยให้สัมภาษณ์กับ Chian Daily ว่าเขาสนใจกำไรในระยะ 10 ถึง 20 ปีข้างหน้ามากกว่า

แม้จะมีแขนขาทางธุรกิจคล้ายกับ Amazon แต่ความต่างอย่างหนึ่งของ JD.com คือ การที่บริษัทขายของโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ สินค้าของบริษัทรับจากโรงงานมาโดยตรง ทำให้ภาระการเก็บสต็อกเป็นของบริษัท ขณะที่ธุรกิจของ Amazon นั้นเปิดให้ผู้ค้าภายนอกเข้ามาใช้ระบบของบริษัทได้แทบทุกชิ้น ตั้งแต่หน้าร้าน สต็อกสินค้า ระบบจ่ายเงิน ไปจนถึงการส่งสินค้า รายได้ในปี 2014 ของ JD.com มาจากค่าธรรมเนียมการขายสินค้าจากร้านค้าภายนอกเพียง 5% แม้จะมียอดขายรวมจากร้านค้าภายนอกถึง 34% สัดส่วนการขายสินค้าจากผู้ค้าภายนอกอยู่ทีราวๆ 40% ในช่วงปี 2015-2016

การที่บริษัทขายสินค้าเองเป็นส่วนใหญ่เป็นจุดขายสำคัญที่บริษัทชูมาตลอดว่าสินค้ามีความน่าเชื่อถือสูง ไม่มีของปลอม และการจัดส่งที่ตรงเวลา

แนวทางการเดินตาม Amazon ของ JD.com เด่นชัดในปี 2016 เมื่อบริษัทเปิดบริการคลาวด์ของตัวเองในช่วงเดือนเมษายน และประกาศทดสอบการส่งสินค้าด้วยโดรนเมื่อเดือนตุลาคม แต่เทียบกับ Alibaba ที่มีบริการ Aliyun ที่ค่อนขยายไปค่อนข้างมาก

การลงทุนอย่างหนัก แต่ยังต้องเป็นที่สองแบบทิ้งห่าง คงเป็นความท้าทายของ JD.com ที่เราต้องตามชมกันต่อไปว่าการลงทุนโครงข่ายด้วยตัวเองเช่นนี้จะสร้างความได้เปรียบในระยะยาวได้จริงหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา