สำรวจข้อดี-ข้อเสีย กรณี Amazon ยกเลิกแผนตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ในนิวยอร์ก

เมื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Amazon ประกาศตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่หลายเมืองในสหรัฐอเมริกาต่างเสนอตัวออกมาต้อนรับพร้อมกับเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ นานามากมาย เช่น สิทธิเรื่องภาษี

ส่วนเหตุผลก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานใหญ่แห่งแรกของ Amazon ในซีแอทเทิล ที่ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 40,000 คน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกกว่า 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในระหว่างปี 2010-2016 (อ่านบทความเพิ่มเติม: กว่า 150 เมืองเสนอตัวเป็นที่ตั้ง Amazon HQ2 สำนักงานใหญ่แห่งที่สองของ Amazon)

จนในที่สุดเมื่อปลายปีที่แล้ว Amazon ได้ประกาศว่า จะตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ใน 2 เมือง ได้แก่ ในเขตลองไอส์แลนด์ซิตี้ (Long Island City) เมืองควีนส์ มลรัฐนิวยอร์ก และย่าน National Landing ในกรุงวอชิงตัวดีซี

ล่าสุด Amazon ยกเลิกแผนตั้งสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กแล้ว

วันนี้ Amazon ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ขอยกเลิกแผนการตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ในนิวยอร์ก โดยให้เหตุผลหลักคือ เพราะมีนักการเมืองในระดับรัฐและท้องถิ่นต่อต้านการตั้งสำนักงานใหญ่ของ Amazon

  • แน่นอนว่า เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่ เพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราลองไปสำรวจกันว่าการยกเลิกแผนตั้งสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กของ Amazon ในครั้งนี้มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง?
Amazon
Amazon Photo: Shutterstock

ข้อเสีย: เมื่อ Amazon ไม่มา ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานไม่เกิด

แน่นอนว่าข้อเสียที่ชัดเจนที่สุดคือ “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” เพราะความคาดหวังของทุกเมืองที่ต้องการให้ Amazon มาตั้งสำนักงานใหญ่ก็เป็นเพราะเรื่องนี้ อย่างในเมืองนิวยอร์ก Amazon เคยสัญญาไว้ว่าจะนำเงินมาลงทุนกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 78,000 ล้านบาท)

นอกจากนั้นมีการประเมินกันว่า หาก Amazon มาตั้งสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก จะทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 25,000 ตำแหน่ง หนึ่งในนักการเมืองฝั่งที่เห็นด้วยกับการให้ Amazon มาตั้งสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กอย่าง Andrew Cuomo ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เคยเตือนกลุ่มนักการเมืองที่ต่อต้านการมาของ Amazon ไว้ว่า

  • “พวกคุณต้องตอบคำถามกับฐานเสียงของตัวเองให้ได้ว่า การต่อต้าน (สำนักงานใหญ่ของ Amazon) จะทำให้ไม่เกิดการจ้างงานกว่า 25,000 ตำแหน่ง”
  • “พวกคุณ (นักการเมืองฝ่ายต่อต้านการมาตั้งสำนักงานใหญ่ของ Amazon) บอกว่า ต้องการทำให้เศรษฐกิจของนิวยอร์กเกิดความหลากหลาย และแน่นอนเราไม่ได้ต้องการเป็นแค่ Wall Street เราต้องการ Amazon

เมื่อไปเปิดดูแถลงการณ์ยกเลิกการตั้งสำนักงานใหญ่ของ Amazon ในครั้งนี้ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า การยกเลิกในครั้งนี้เป็นเพราะ “นักการเมืองกลุ่มเล็กๆ ที่เอาผลประโยชน์ส่วนตัวอันคับแคบ ให้มาอยู่เหนือผลประโยชน์ของชุมชน รวมถึงอนาคตทางเศรษฐกิจของนิวยอร์กและผลประโยชน์ของผู้คนในมลรัฐ ถ้าไปดูผลสำรวจจะพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ (Amazon อ้างว่ามีมากถึง 70%) ที่สนับสนุนการมาตั้งสำนักงานใหญ่ของ Amazon ในเขตลองไอส์แลนด์ซิตี้ รัฐนิวยอร์ก”

Amazon
Amazon Photo: Shutterstock

ข้อดี: การกระตุ้นเศรษฐกิจและจ้างงาน อาจไม่ได้ถึงคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ข้อดีที่ชัดเจนของการที่ Amazon ยกเลิกแผนมาตั้งสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก คือการปกป้องวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น เพราะการมาของ Amazon อาจไม่ได้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ตกไปถึงมือของผู้คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และที่สำคัญอาจทำให้แรงงานจากต่างพื้นที่ซึ่งมีทักษะสูงกว่าย้ายเข้ามาในนิวยอร์กเพื่อแย่งงานของคนในท้องถิ่น

แต่ที่มากไปกว่านั้น (และอาจจะแย่ที่สุด) คือผลกระทบต่อชุมชนในนิวยอร์ก เพราะต้องไม่ลืมว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ในอากาศ สิ่งเหล่านี้มีต้นทุนที่ต้องจ่าย และถึงที่สุดต้นทุนนั้นอาจหมายถึง ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยที่แพงขึ้นจนทำให้คนท้องถิ่นอาจเอื้อมไม่ถึง และในที่สุดอาจถูกบีบให้ต้องย้ายจากถิ่นฐานเดิมไปอาศัยและทำมาหากินในที่อื่น (อ่านบทความเพิ่มเติม: ผลกระทบจากสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ของ Amazon ราคาบ้านแพงขึ้น แถมมีคนต่อต้าน)

Michael Gianaris สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เขตแอสโทเรียและควีนส์ในรัฐนิวยอร์ก ผู้เป็นหนึ่งในนักการเมืองฝ่ายต่อต้านการมาของ Amazon พูดไว้น่าสนใจว่า “มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อต้าน พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน … Amazon เป็นบริษัทประเภทที่มากอบโกยๆๆ และไม่ได้สนใจเลยว่าได้ทำลายชุมชนไปอย่างไรบ้าง”

Alexandria Ocasio-Cortez สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของเขตบร็องและควีนส์ในรัฐนิวยอร์ก หนึ่งในนักการเมืองสาวอเมริกันที่โดดเด่นที่สุดแห่งยุค เธอได้ทวีตถึงเรื่องการยกเลิกแผนของ Amazon ในครั้งนี้ว่า “อะไรก็เป็นไปได้: วันนี้เป็นวันที่ชาวนิวยอร์กเอาชนะความโลภ การเอารัดเอาเปรียบ และพลังของชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกได้” (หมายถึง Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Amazon จะพับแผนการตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ในนิวยอร์ก (แต่ยังคงสานต่อการสร้างสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ใน National Landing) แต่สิ่งที่สำคัญคือ นักการเมืองในนิวยอร์กที่คัดค้านการมาของ Amazon ในครั้งนี้ น่าจะมีการบ้านใหญ่ เพราะคำถามที่ว่า “แล้วจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานให้กับชาวนิวยอร์กได้อย่างไร?” น่าจะเป็นคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ

Amazon
Amazon Photo: Shutterstock

ข้อมูล – CNBC, The Verge, TicToc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา