กลายเป็นประเด็นระดับชาติของสหรัฐอเมริกาขึ้นมาทันที เมื่อ Amazon ยักษ์ใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซโลก ประกาศว่าจะสร้างสำนักงานใหญ่แห่งที่สอง (โค้ดเนมเรียกสั้นๆ ว่า Amazon HQ2) เนื่องจากสำนักงานใหญ่ที่เมืองซีแอทเทิล ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้ทัน
Amazon HQ2 สำนักงานใหญ่แห่งที่สอง ลงทุน 1.7 แสนล้านบาท จ้างงาน 5 หมื่นตำแหน่ง
แนวทางของ Amazon คือเปิดให้เมืองต่างๆ ในอเมริกาเหนือ เสนอตัวเข้ามาว่าอยากให้ Amazon HQ2 ไปตั้งหรือไม่ พร้อมเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ Amazon (เช่น สิทธิทางภาษีท้องถิ่น) เพื่อแลกกับการที่ Amazon เข้าไปตั้งสำนักงานใหญ่ มีการลงทุนจำนวนมหาศาล มีการจ้างงานจำนวนมาก และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับเมืองแห่งนั้น
Amazon สรุปตัวเลขว่าสำนักงานใหญ่แห่งแรกในซีแอทเทิล มีการจ้างพนักงานของบริษัทเองกว่า 4 หมื่นคน และเกิดผลทางอ้อมเป็นการจ้างงานต่อเนื่องให้กับเมืองอีกกว่า 5 หมื่นคน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2010-2016
ส่วนสำนักงานใหญ่แห่งที่สอง บริษัทคาดว่าจะลงทุนเรื่องสำนักงานถึง 5 พันล้านดอลลาร์ (1.7 แสนล้านบาท) และจ้างงานอีก 5 หมื่นตำแหน่ง (Amazon มีพนักงานทั้งหมด รวมพนักงานพาร์ทไทม์ด้วยที่ 3.8 แสนคน) นี่ยังไม่รวมถึงโอกาสใหม่ๆ อย่างร้านค้าปลีกแนวทดลอง Amazon Go ที่ Amazon เลือกเปิดในพื้นที่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของตัวเอง
กว่า 150 เมืองเสนอตัวเข้าชิงชัย แคนาดาก็มาด้วย
ผลประโยชน์ระดับนี้ ส่งผลให้เมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา (รวมถึงเมืองในแคนาดาด้วย!) ต่างส่งข้อเสนอเข้ามายัง Amazon กันอย่างล้นหลามกว่า 150 เมือง ก่อนจะปิดรับใบสมัครเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (19 ตุลาคม 2017) ขั้นต่อไปจะเป็นกระบวนการคัดเลือกของ Amazon เอง ซึ่งบริษัทประกาศว่าจะพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะด้านซอฟต์แวร์ รวมถึงสภาพแวดล้อมของเมืองแห่งนั้นที่เหมาะกับการทำธุรกิจ
Amazon ไม่ได้เปิดเผยว่ามีเมืองใดเสนอตัวเข้ามาบ้าง แต่เทศบาลท้องถิ่นหลายๆ เมืองก็ประกาศต่อสาธารณะ เพื่อเชิญชวน-ล็อบบี้ให้ Amazon เลือกเมืองของตน
ตัวอย่างเช่น เมือง Irvine ในรัฐแคลิฟอร์เนีย นำโดยมหาเศรษฐี Donald Bren ที่เป็นเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ก็เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง Jeff Bezos เชิญชวนให้มาตั้งสำนักงานที่นี่ เขาถึงกับเสนอตัวว่า Amazon จะไม่ต้องควักกระเป๋าลงทุนอะไรเลยตามแผน 5 พันล้านดอลลาร์ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง บริษัทของเขาจะลงทุนให้ทั้งหมดแล้วปล่อยให้ Amazon เช่าต่ออีกทอดหนึ่ง (Business Insider)
เมืองใหญ่อย่าง New York City ก็ไม่พลาดโอกาสนี้เช่นกัน ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ตรงข้ามกับเมืองซีแอทเทิลที่อยู่ฝั่งตะวันตก กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี บวกกับอุตสาหกรรมไอทีในนิวยอร์กที่มีบริษัทต่างๆ จำนวนมากอยู่แล้ว Amazon สามารถหาพนักงานมีฝีมือได้ไม่ยาก โดยนิวยอร์กเสนอพื้นที่ 4 ทำเลให้ Amazon เลือก ได้แก่ Midtown West, Financial District, Long Island City, Brooklyn Tech Triangle
นครนิวยอร์กถึงกับเปิดไฟเป็นสีส้ม รวมถึงเปิดไฟของตึก Empire State เป็นสีส้ม สีของบริษัท Amazon ในวันที่ยื่นข้อเสนอด้วย
Together w/@nycgo_press, we’re lit in orange from 9PM-9:15PM tonight to celebrate NYC’s bid for @amazon’s 2nd HQ. ?: David_goodman_photos/IG pic.twitter.com/5bnJqCbuKG
— Empire State Bldg (@EmpireStateBldg) October 18, 2017
เมืองหลวงของประเทศอย่าง Washington DC ก็ไม่พลาดโอกาสนี้ โดยนายกเทศมนตรี Muriel Bowser ก็ทวีตวิดีโอเสนอตัวส่งไปยัง Amazon ด้วย
Hey Alexa – what's the best location for @Amazon's second headquarters?
Obviously, Washington, DC. #ObviouslyDC pic.twitter.com/VRJthcsPt5
— Mayor Muriel Bowser (@MayorBowser) September 14, 2017
ข้อเสนอบางอย่างก็มาในระดับของรัฐทั้งรัฐ เช่น สภาของรัฐโคโลราโด ก็ส่งจดหมายถึง Jeff Bezos บอกว่าขอให้มาตั้งที่รัฐของเรา จะเป็นเมืองไหนก็ได้หมด
Colorado Congressional Delegation Urges @amazon to Choose #CO for Second Headquarters. See our letter here –> https://t.co/oRopBQPHm9 pic.twitter.com/kDpUN7RD0p
— Rep. Mike Coffman (@RepMikeCoffman) October 5, 2017
อีกเมืองที่น่าสนใจคือ Vancouver เมืองใหญ่ฝั่งตะวันตกของแคนาดา ที่มีจุดเด่นเรื่องความใกล้กับเมืองซีแอทเทิล สำนักงานปัจจุบันของ Amazon ไปมาหาสู่กันได้สะดวก และเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรบุคคล เรื่องนี้ Ian McKay ซีอีโอของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของเมือง (Vancouver Economic Commission) ให้สัมภาษณ์ว่าจะพยายามทำทุกทาง เพื่อสร้าง Vancouver เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเทคโนโลยีอันดับ 1 ของแคนาดาให้จงได้ เมืองอื่นในแคนาดาที่เสนอตัวก็มีทั้ง Toronto, Ottawa, Edmonton และเมืองอื่นอีกรวมประมาณ 10 เมือง (CBC)
สีสันการตลาด แคมเปญหาเสียงแหวกแนวเรียกความสนใจ
หลายเมืองก็ใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์เมืองของตัวเองให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แม้โอกาสชนะต่ำ แต่ได้ผลลัพธ์คือโปรโมทเมืองก็คุ้มค่า ซึ่งเราก็ได้เห็นแคมเปญโปรโมทแปลกๆ หลายอย่าง
ที่หวือหวาคือเมือง Tuscon ในรัฐแอริโซนา ส่งต้นกระบองเพชรที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง ใส่รถวิ่งข้ามประเทศไปยังสำนักงานของ Amazon แต่ปรากฏว่า Amazon บอกว่าไม่สามารถรับของขวัญนี้ได้ และเลือกบริจาคให้พิพิธภัณฑ์แทน
Thx @SunCorridorInc! Unfortunately we can’t accept gifts (even really cool ones) so we donated it to @DesertMuseum ? https://t.co/ZJPQfs44cq pic.twitter.com/Fot06Kgs9P
— Amazon News (@amazonnews) September 19, 2017
Sly James นายกเทศมนตรีของเมืองแคนซัส หวังซื้อใจ Amazon แบบสุดๆ ด้วยการสั่งซื้อสินค้าจาก Amazon หนึ่งพันกล่อง เขียนรีวิวสินค้าทุกชิ้นบนเว็บไซต์ และทำวิดีโอแกะกล่องสินค้า ประกอบการเชิญชวนให้ Amazon แวะมาหา
เมือง Ottawa ในแคนาดา ถึงกับลงโฆษณาช่วงพักครึ่งของการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็ง เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันส่งเสียงไปยัง Amazon ให้มาสนใจเรา
We are currently cheering for Amazon to set up shop in Ottawa during a TV timeout. I’m not making this up. #Canucks #Sens pic.twitter.com/0OuIVQ4S3d
— Jyrki21 (@Jyrki21) October 18, 2017
เมือง Birmingham ในรัฐ Alabama ลงทุนตั้งกล่องสินค้าของ Amazon ในเมืองเพื่อเป็นจุดสังเกตที่เด่นๆ และเรียกความสนใจ
We're excited to show @amazon what we're made of! Help us send a message and share why you think they should #bringatob. pic.twitter.com/INySW5BRiu
— Bring A to B (@BringAtoB) September 25, 2017
ที่หวือหวาที่สุดคือ Stonecrest City เมืองเล็ก ๆ ในรัฐจอร์เจีย ใกล้กับเมือง Atlanta ลงมติว่าถ้า Amazon มาจริงๆ จะตัดแบ่งที่ดินของเมืองจำนวน 345 เอเคอร์ เพื่อตั้งเป็นเมืองใหม่ชื่อ Amazon ให้เลยเอ้า!!! (AJC)
เมืองไหนคือตัวเต็ง เมืองไหนจะมาวิน
ตอนนี้มีบทวิเคราะห์จากหลายสำนัก ออกมาคาดการณ์ว่าเมืองไหนจะเข้าเส้นชัย ได้ผลประโยชน์ก้อนใหญ่จาก Amazon HQ2
บริษัทวิจัย Everest Group คาดการณ์ว่า Amazon จะเลือกเมืองใหญ่ที่มีประชากร 4 ล้านคนขึ้นไป และเมืองที่ผ่านเกณฑ์นี้จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีประชากรที่มีทักษะด้านซอฟต์แวร์เยอะพอกับความต้องการของ Amazon ซึ่งจะตัดตัวเลือกได้เหลือ 6 เมืองคือ Atlanta, Boston, Chicago, Dallas, New York, Washington D.C. (Fortune)
ส่วนบริษัทให้คะแนนเครดิตการเงิน Moody’s เลือกรายชื่อ 10 เมืองที่มีโอกาสสูงสุด โดยพิจารณาจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต การคมนาคม เมืองที่เข้ารอบได้แก่ Austin, Atlanta, Philadelphia, Rochester (New York), Pittsburgh, New York City, Miami, Portland, Boston, Salt Lake City โดย Austin เป็นเต็งหนึ่งจากปัจจัยค่าครองชีพและภาษีที่ต่ำ (Business Insider)
อีกทฤษฎีหนึ่งที่เป็นไปได้คือ Amazon จะเลือกสำนักงานใหญ่แห่งที่สอง จากความสะดวกในการเดินทางไปมากับสำนักงานใหญ่ที่ซีแอทเทิล โดยรวมระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่การเดินทางไปยังสนามบิน เวลารอขึ้นเครื่อง เวลาเดินทางจริงๆ บนเครื่องบิน เพื่อประหยัดเวลาการเดินทางของผู้บริหารและพนักงานที่ต้องบินไปมาระหว่างสำนักงานใหญ่ทั้งสองแห่ง สูตรนี้เป็นปัจจัยที่ Intel เคยใช้เลือกขยายสำนักงานใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อน (Seattle Times)
สุดท้ายแล้วอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา คือเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละเมืองยินดีจะเสนอ / ประเคนให้ Amazon เพื่อชักจูงให้เลือกเมืองของตน ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ
เราจะรู้คำตอบว่าสุดท้าย Amazon เลือกเมืองไหน ในช่วงต้นปีหน้า 2018
ข้อมูลจาก Amazon
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา