ทำธุรกิจแบบ Amazon: ยอมทิ้งสินค้าที่ขายไม่ได้ ต้นทุนถูกกว่าเก็บไว้ให้แห้งตายในโกดัง

ทำธุรกิจต้องคิดแบบ Amazon ทำลายสินค้าที่เก็บไว้ในโกดังหลายล้านชิ้นต่อปี บางชิ้นยังไม่ได้แกะออกจากห่อพลาสติกเลยด้วยซ้ำ โดยสาเหตุเป็นเพราะการทำลายสินค้าที่ขายไม่ได้มีต้นทุนที่ถูกกว่าการจัดเก็บสินค้านั้นต่อไป

Amazon บริษัท e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ตกถูกโจมตีอีกครั้งจากกรณี “ไม่รักโลก” ทำลายสินค้านับล้านชิ้นต่อปี โดยเป็นของมือหนึ่งที่ยังขายไม่ออก หรือลูกค้าส่งคืนของกลับมาเพราะไม่พึงพอใจในคุณภาพ ซึ่งจำนวนสินค้าที่ถูกทำลายนี้มาจากโกดังเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการรายงานในประเทศอังกฤษเท่านั้น

Amazon ทำลายสินค้าใหม่ที่ขายไม่ออกนับแสนชิ้นต่อสัปดาห์

สินค้าที่ถูกทำลายนับล้านชิ้นต่อปี กว่าครึ่งเป็นของใหม่ยังไม่ได้แกะซีลพลาสติกที่หุ้มไว้เลยด้วยซ้ำ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของที่ลูกค้านำมาคืน โดยยังมีสภาพดี มีทั้งสมาร์ททีวี คอมพิวเตอร์ โดรน ไดร์เป่าผม หูฟัง ฮาร์ดดิสก์ หนังสือ และหน้ากากอนามัย โดยทั้งหมดจะถูกโกยใส่กล่องและติดสัญลักษณ์ “ทำลาย” เอาไว้ จากนั้นก็จะถูกส่งขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบขยะ

จากเอกสารภายในของ Amazon ที่ itv สำนักข่าวของประเทศอังกฤษได้มา พบว่า เพียงช่วงสัปดาห์เดียวของเดือนเมษายน มีสินค้าที่จะถูกส่งไปทำลายกว่า 124,000 ชิ้น บางสัปดาห์จำนวนสินค้าที่จะถูกส่งไปทำลายอาจมีถึง 200,000 ชิ้นเลยทีเดียว แต่มีเพียง 28,000 ชิ้น เท่านั้น ที่ Amazon เลือกนำไปบริจาคต่อ

สินค้าที่ขายไม่ออก เก็บไว้ก็มีแต่ต้นทุน

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไม Amazon ต้องทำลายสินค้าที่ขายไม่ออกทิ้ง ทั้งที่สินค้าพวกนี้ยังไม่ได้แกะออกจากซีลพลาสติกเลยด้วยซ้ำ หรือบางชิ้นแม้จะเป็นของที่ถูกลูกค้าส่งคืนกลับมา แต่ก็ยังอยู่ในสภาพดีมาก

คำตอบง่ายๆ ของคำถามนี้คือ “ต้นทุน” ในการเก็บรักษาสินค้าในโกดังของ Amazon สูงกว่าการนำสินค้าไปทำลาย

Amazon ทำหน้าที่เป็นเว็บไซต์ e-Commerce ที่เป็นเหมือนตลาด ให้บริษัทอื่นๆ หรือใครก็ได้นำสินค้าเข้ามาวางขายบนหน้าเว็บ บางส่วนไม่ได้มีโกดังเป็นของตัวเอง Amazon จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ให้บริการ เก็บสินค้าของบริษัทอื่นๆ ไว้กับโกดัง

หากสินค้าขายไม่ออก ก็จะมีต้นทุนในการเก็บสินค้าไว้ในโกดังของ Amazon ที่เพิ่มมากขึ้น ทางออกง่ายๆ คือ การทำลายสินค้านั้น ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าการเก็บสินค้าที่ไม่รู้จะขายได้เมื่อไหร่ไว้ในโกดัง

ด้านตัวแทนของ Greenpeace ให้ความเห็นว่า “รู้สึกช็อคกับวิธีการทำลายสินค้าของบริษัทมูลค่ามหาศาลอย่าง Amazon ของบางชิ้นตรงออกจากโรงงาน ไปสู่ถังขยะโดยไม่ได้ขายให้ลูกค้า” พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการจัดการจากทางภาครัฐ

อย่างไรก็ตามตัวแทนของ Amazon ยืนยันว่า สินค้าที่ถูกทำลายมีเพียงน้อยนิด และ Amazon ก็พยายามนำสินค้าเหล่านี้ไปขายใหม่ หรือบริจาค โดยยืนยันว่าไม่มีสินค้าที่ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ แต่จะนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแทน

ที่มา – itv

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา