ค้าปลีกรองเท้าจะอยู่อย่างไรไหว ในวันที่ Amazon ครองตลาด Foot Locker ไม่น่ารอด ยอดขายนิ่ง

ท่ามกลางการล่มสลายของวงการค้าปลีก ร้านขายรองเท้าได้รับผลกระทบหนักมาก รายที่รับสินค้าจากแบรนด์อื่นๆ มาขายต่อ ไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง จะอยู่ในตลาดต่อไปอย่างไร ในวันที่อีคอมเมิร์ซโตขึ้นเรื่อยๆ คนก็สั่งผ่าน Amazon กันทั้งนั้น

Photo: shopdullestowncenter

ค้าปลีกมีหน้าร้าน แม้จะอยู่มานาน ก็อาจไม่รอด

การล่มสลายของวงการค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าที่สหรัฐอเมริกาส่งผลประทบไปในหลายธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือร้านขายรองเท้าอย่าง Foot Locker และ Finish Line ที่มีแนวโน้มสูงว่าจะต้องปิดตัวและถอยออกไปจากตลาดในไม่ช้า ส่วนผู้ที่มาแทนที่ในตลาด ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คืออีคอมเมิร์ซรายใหญ่ Amazon นั่นเอง

จากเหตุการณ์ ค้าปลีกในอเมริกาทยอยปิดตัวอย่างเป็นทางการ ตัวเลขตอนนี้เอาแค่ปี 2017 นับเป็นจำนวน 6,300 รายแล้วที่ปิดตัวลงไป นอกจากนั้นนักวิเคราะห์จาก UBS ได้ระบุไว้ว่า “ค้าปลีกรองเท้าอย่าง Foot Locker กับ Finish Line จะเป็นรายต่อไป”

เหตุผลที่นักวิเคราะห์จาก UBS ระบุไปแบบนั้นก็เพราะไปเปิดผลประกอบการดู เริ่มจาก Foot Locker ที่ไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว หุ้นร่วงไปเกือบ 30% แถมยอดขายก็ลดไปถึง 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในช่วง 3 เดือนมานี้เอง หุ้นก็ร่วงลงไปอีก 57% นับเป็นเป็นสัญญาณอันตราย

Richard Johnson ซีอีโอของ Foot Locker บอกว่า “เราไม่ได้กังวลกับการมาของ Amazon เพราะเรายังจะมุ่งสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าต่อไป เราเชื่อว่าลูกค้าไม่ได้ต้องการดูสินค้าผ่านหน้าจอเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ลูกค้าต้องการเข้ามาสัมผัสในร้านค้า เข้ามามีประสบการณ์ บางครั้งอาจจะผ่านการใช้วีดิโอ Youtube ของเซเลบบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือการได้สัมผัสสินค้า ฉะนั้น เราไม่เชื่อว่าผู้ขายสินค้ารายอื่นๆ ของเราจะเข้าไปขายใน Amazon เราเชื่อว่า ยิ่งถ้าเป็นลูกค้าระดับพรีเมี่ยม รองเท้าผ้าใบคู่นึงมากกว่า 100 เหรียญ อย่างไรแล้วเขาก็ต้องอยากสัมผัสสินค้าจากช่องทางต่างๆ อย่างแน่นอน”

แต่ในความเป็นจริง มันเป็นอย่างที่ซีอีโอของ Foot Locker บอกไว้หรือไม่?

Michael Binetti นักวิเคราะห์จาก UBS ได้ปรับลดธุรกิจของ Foot Locker กับ Finish Line ให้มาอยู่ในระดับ “น่าจะต้องปิดร้านแน่ๆ” เพราะนักวิเคราะห์รายนี้มองว่า Amazon ได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปเกือบหมดแล้ว

เหตุผลของ Binetti มีดังนี้

  • ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Nike ตอนนี้พยายามจะเพิ่มยอดขายด้วยการส่งสินค้าไปหาผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น แต่เมื่อเปิดดูยอดขายของ Finish Line พบว่า ทำรายได้จากแบรนด์ Nike ถึง 68% เพราะฉะนั้นในสภาวะที่แพลตฟอร์มการขายเปลี่ยนไปเป็น “ออนไลน์” ไม่ใช่ “หน้าร้าน” แล้วตัวกลางที่กระจายสินค้าจะมีไว้ทำไม? สู้ขายผ่าน Amazon หรือทางแบรนด์ก็ส่งสินค้าขายเองผ่านทางออนไลน์ไปเลย จะไม่ดีกว่าหรือ?
  • จากข้อมูลของ UBS ในปีนี้เอง พบว่า เป็นครั้งแรกที่ “ผู้บริโภคสั่งซื้อ Nike จาก Amazon มากกว่าร้านขายรองเท้า Foot Locker”

นักวิเคราะห์คิดว่า “ระหว่างสองร้านนี้ Finish Line มีความเสี่ยงสูงมากที่สุด เนื่องจากยอดขายต่ำลงเรื่อยๆ”

UBS จึงปรับลดอันดับของ Foot Locker จากยังมียอดขายไปเป็นยอดขายนิ่ง ส่วน Finish Line จากยอดขายนิ่งไปเป็นระดับที่เรียกว่า “เจ๊ง” เรียบร้อยแล้ว

ที่มา – Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา