หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง! Amazon แก้เกมคู่แข่งจีนอย่าง Temu และ Shein ด้วยกลยุทธ์การดึงธุรกิจและคนขายชาวจีนมาขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม เพื่อสู้ราคา ดึงลูกค้าทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
Amazon เคยถอยทัพกลับจากจีน
ก่อนที่จะงัดกลยุทธ์เข้าสู้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนอย่าง Temu และ Shein นั้น Amazon ได้ลดสเกลธุรกิจให้บริการลูกค้าในจีนลง ทั้งเลิกให้บริการอีคอมเมิร์ซในจีนเมื่อปี 2019 และเพิ่งปิดบริการ Kindle E-book ไป
แม้จะยังให้บริการขนส่งข้ามประเทศเข้าสู่จีน แต่ก็ถือว่าบทบาทของ Amazon ในเชิงธุรกิจยังอ่อนแอ
แต่ล่าสุด เมื่อมีคู่แข่งเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติจีนที่ขายสืนค้าออนไลน์ได้ในราคาถูกแบบ Temu และ Shein ทำให้ Amazon เริ่มกังวลว่า ธุรกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกจะขายได้ลดลง
มีข้อมูลผลสำรวจของผู้บริโภคชาวอเมริกัน 1,000 คนจาก Jungle Scout ซึ่งเป็นบริการวิเคราะห์การขายบอกว่า ผู้บริโภค 52% ค้นหาสินค้าบน Amazon เป็นที่แรกเวลาช็อปปิ้งออนไลน์ในช่วงไตรมาส 2 ลดลงจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่มีอยู่ 61%
ตัวเลขยอดขายของธุรกิจสินค้าออนไลน์ของ Amazon เองก็เติบโตลดลงอยู่ที่ 5% ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ เทียบกับไตรมาสแรกที่เติบโต 7%
นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ผู้บริโภคชาวสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 11 นาทีต่อวันเพื่อใช้แอปของ Amazon ขณะที่ลูกค้าของ Temu ใช้แอป 22 นาทีต่อวัน เพราะมักจะมีคูปองลดราคาที่ช่วยดึงดูดลูกค้าอยู่เป็นประจำ
Amazon ดึงคนขายชาวจีนมาขายบนแพลตฟอร์ม
ล่าสุด Amazon ต้องกลับมาประเมินความสำคัญของจีนใหม่อีกครั้งในฐานะที่เป็นแหล่งสินค้าส่งออกไปขายนอกประเทศจีน นำมาสู่การผลักดันผู้ชายชาวจีนมากขึ้น
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Amazon ได้จัดงานสำหรับผู้ขายสินค้าออนไลน์ในประเทศจีน โดยบอกว่าแพลตฟอร์มจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ขายเข้าสู่ตลาดทั่วโลกให้ได้
Amazon ได้ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในจีนอย่าง Anker ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ชาร์จสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งแบรนด์ Roborock ที่ผลิตหุ้นยนต์ทำความสะอาด ซึ่งเป็น 2 แบรนด์ตัวอย่างที่ขยายธุรกิจไปทั่วโลกได้สำเร็จ
ในปีนี้ Amazon ยังได้เปิดสำนักงานใหม่ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ และเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขายในเมืองใกล้เคียงและพื้นที่รอบๆ รวมทั้งหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ๆ กับผู้ขายที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างโรงงานในพื้นที่ชนบท
สำนักงานใหม่นี้จะเข้าไปช่วยธุรกิจที่ขาด Know-How เพื่อให้ส่งออกสินค้าออกไปขายนอกประเทศและสร้างแบรนด์ขึ้นมาได้ ด้วยเครือข่ายโลจิสติกส์ของ Amazon และแหล่งซัพพลายเชนอื่นๆ
โซเชียลมีเดียหลักของ Amazon ยังประกาศรับสมัครผู้ขายสินค้าออนไลน์เเพิ่ม มีไลฟ์สดทุกวันเพื่อพูดคุยกับผู้ขายที่กำลังมองหาช่องทาง โดยคาดว่าในปี 2024 จะจัดงานรวมตัวผู้ขายหลักหลายพันคนหลายรอบด้วยกัน
สื่อในสหรัฐออเมริกาหลายแหล่งยังบอกอีกว่า บริษัทจะเริ่มสร้างแผนธุรกิจเพื่อส่งสินค้าจีนไปขายในสหรัฐอเมริกาในราคาที่ถูกลง ผ่านการเซ็นสัญญากับธุรกิจค้าปลีกสัญชาติจีนหลายเจ้าที่ช่วยให้ส่งสินค้าจำเป็นที่มีราคาถูกและเสื้อผ้าไปสู่ลูกค้าในสหรัฐอเมริกาโดยตรงได้
ผู้บริโภคอยากได้ของถูก จีนเลยสำคัญ
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา Andy Jassy ซีอีโอของ Amazon ยอมรับว่า ผู้บริโภคยังคงมองหาสินค้าราคาถูกอยู่เรื่อยๆ
จีนกลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญมากขึ้นในฐานะแหล่งซัพพลายเออร์ของสินค้าราคาถูก ซึ่งเทรนด์นี้มีประโยชน์ต่อผู้ขายชาวจีนที่จะเพิ่มการส่งออกเพื่อทดแทนกับความต้องการซื้อในจีนที่ชะลอตัวลง
การส่งออกข้ามแดนของอีคอมเมิร์ซในปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 2.6 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 180% จากปี 2018 ตามข้อมูลของสำนักงานศุลกากรของจีน
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศปลายทางของสินค้าอีคอมเมิร์ซจีนมากที่สุดกินสัดส่วน 37.4% ตามมาด้วย
- สหราชอาณาจักร 8.7%
- เยอรมนี 4.7%
- รัสเซีย 4.6%
- ฝรั่งเศส 3.7%
- ประเทศอื่นๆ 40.9%
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากจีนยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Temu, AliExpress และ TikTok ที่กำลังขยายตัวโดยใช้เครือข่ายพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจในหลายประเทศ ช่วยกระตุ้นยอดการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น
Amazon ไม่ใช่แพลตฟอร์มนอกจีนแค่เจ้าเดียวที่กำลังมุ่งเป้าไปที่การขยายธุรกิจจากจีน Shopee ซึ่งมาจากสิงคโปร์เองก็พยายามจัดสตรีมมิ่งบน WeChat เพื่อดึงดูดผู้ขายสินค้าชาวจีนที่สนใจตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มาขายของบนแพลตฟอร์มด้วย
ที่มา – Nikkei Asia
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา