ทำความรู้จัก Sharing Economy แบบจีน ที่ไปไกลกว่าแค่แอพแชร์จักรยาน

จากข่าวการปิดกิจการของแอพแชร์จักรยาน Bluegogo ในจีน จนมาถึงปัญหาซากจักรยานจำนวนมหาศาลในประเทศ ถึงแม้เรื่องนี้อาจไม่ได้บ่งบอกสัญญาณร้ายอะไรนัก เพราะเป็นปัญหาเฉพาะกิจการ แต่ในอีกด้านก็ช่วยให้เห็นว่าสตาร์ทอัพในจีน ที่ดำเนินธุรกิจด้วยรูปแบบแบบแบ่งปันทรัพยากร หรือที่เรียกว่า Sharing Economy นั้น มีการดำเนินงานเชิงรุกแบบรุนแรง และสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไปได้ไกลกว่าใครในโลกมาก

บริการเช่าจักรยาน ของ Mobike หนึ่งในรายใหญ่ที่จีน (ภาพนี้ถ่ายที่สิงคโปร์)

สำนักข่าว Xinhua ของจีน เคยบอกว่า 4 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์ยุคใหม่ของจีนนั้นประกอบด้วย การจ่ายเงินผ่านมือถือ, อีคอมเมิร์ซ, รถไฟความเร็วสูง และแอพแชร์จักรยาน ซึ่งช่วยให้เห็นว่าบริการแชร์จักรยานนี้ เป็นรูปแบบบริการแนวใหม่ที่ Made From China ประชาชนชาวจีนที่ใช้บริการจักรยานนี้พบว่ามันสามารถช่วยเชื่อมต่อการเดินทาง จากบ้านไปยังจุดโดยสารขนส่งสาธารณะต่อเนื่องกันได้อย่างดี การศึกษาพบว่าธุรกิจแนวแบ่งปันในจีนนั้นมีเม็ดเงินเข้าออกมากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ และยังมีแนวโน้มเติบโตตลอด

ที่น่าสนใจคือ วิธีทำธุรกิจบริการสาย Sharing Economy ของจีนนั้น ไม่ได้เป็น Sharing แบบฝั่งตะวันตก ที่ให้ผู้ใช้งานนำของที่มีอยู่แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน (Airbnb นำห้องที่มีอยู่มาให้คนอื่นพัก, Uber ให้คนมีรถยนต์นำรถมาบริการ) เราจึงเห็นการทุ่มซื้อจักรยานจำนวนมหาศาล แล้วนำไปปล่อยให้คนใช้ผ่านแอพ ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะแอพจักรยานรายใหญ่อย่าง Mobike กับ Ofo นั้นมีทุนใหญ่หนุนหลังอย่าง Tencent กับ Alibaba ตามลำดับ ที่พร้อมให้เงินทุนไปซื้อทรัพยากรเพื่อ Sharing ดึงคนมาใช้

Ofo จักรยานให้เช่า สีเหลือง

แนวคิดทุ่มซื้อทรัพยากรเยอะๆ แล้วกระจายมาให้บริการผู้ใช้งานแอพแบบนี้ จนดูไม่ใช่บริการแบ่งปันทรัพยากร แต่น่าจะเรียกว่าทำธุรกิจปล่อยเช่าของมากกว่า ผู้บริหารสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในจีนยังถึงกับบอกว่า ที่สตาร์ทอัพจีนนิยมทำธุรกิจแบบปล่อยเช่า อาจเพราะติดกับสไตล์การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดซื้อและจัดสรรทรัพยากรให้ประชาชน อะไรอย่างนั้นเลย! บนรูปแบบการทำธุรกิจแบบ Sharing เช่าอย่างนี้ ยังทำให้เกิดสตาร์ทอัพแปลกๆ หลายอย่างในจีนด้วย บางอย่างผู้อ่านอาจเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว แต่ก็รวบรวมมาให้ดูกัน

  • บริการแชร์ร่ม E Umbrella ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ และเจอปัญหาร่มหายไปมากกว่า 300,000 คัน เหตุผลนั้นก็ง่ายมาก เพราะร่มสะดวกต่อการขโมยอยู่แล้ว
ภาพจาก Shangjaiist
  • บริการเช่ารถ BMW 1 Series ขับ คิดราคาตามระยะทางที่ใช้ ปลดล็อกรถด้วยการสแกน QR Code
ภาพจาก Shenyang Daily ผ่าน Tech In Asia
  • บริการเช่าลูกบาสเกตบอล Zhulegeqiu ในราคา 1.50 หยวน ต่อ 30 นาที เน้นเปิดในพื้นที่มหาวิทยาลัย
ภาพจาก Qianzha

บริการเช่ากระเป๋าแบรนด์เนมยุโรป Dou Bao Bao ซึ่งมีราคาค่าเช่าเริ่มต้นที่ 99 หยวน (500 บาท) มีออกแบบระบบป้องกันการขโมยโดยผู้ใช้ต้องวางมัดจำอย่างน้อย 10 เท่าของค่าเช่ากระเป๋า (ข้อมูลเพิ่มเติม)

แอพ Dou Bao Bao

Sharing ยังเกิดได้ที่ร้านหนังสือ โดยร้านหนังสือ ได้ทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ ยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านผ่านแอพฟรีๆ (วางมัดจำเล็กน้อย) หากผู้อ่านไม่ชอบก็นำมาคืนได้ใน 10 วัน แต่ถ้าชอบก็ไม่ต้องคืนแล้วตัดคำสั่งซื้อหนังสือผ่านแอพไปเลย ร้านหนังสือก็ได้เพิ่มโอกาสในการขายไปอีกรูปแบบ

หนังสือในร้านมี QR Code จะเช่าเล่มไหนไปลองอ่านก็สแกนซะ (ภาพ Chinanews)

ยังมีหลายธุรกิจอีกมาก แต่ทั้งหมดนั้นเกิดได้จากองค์ประกอบผสมผสานหลายอย่าง ได้แก่

  • แพลตฟอร์ม Mini Program ในแอพ WeChat ทำให้นักพัฒนาไม่ต้องเร่งเร้าผู้ใช้ให้โหลดแอพใหม่
  • แอพเช่าทุกชนิดล้วนใช้ QR Code ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชาวจีนใช้กันแพร่หลาย
  • หลายบริการในจีน มีลักษณะการทำแบบ มั่วทำไปก่อน หน่วยงานไล่จับค่อยว่ากันอีกที ตัวอย่างเช่น แอพเช่าเก้าอี้รอที่ป้ายรถเมล์ ก็ยังมีทำมาแล้ว

ด้วยองค์ประกอบที่เกื้อหนุนแบบนี้ เราคงได้เห็นสตาร์ทอัพสายเช่าจากจีนอีกมาก ส่วนจะไปได้ดีในเชิงธุรกิจหรือไม่ เวลาจะเป็นคนตอบเรื่องนี้เอง

ที่มา: The New York Times, CNBC, Mother Ship และ South China Morning Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา