ยอดธุรกรรมผ่าน Alipay ในต่างประเทศช่วง Golden Week เติบโตแบบฉุดไม่อยู่

Golden Week หรือวันหยุดยาวของจีน ช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. ที่ผ่านมา เรียกว่าคนจีนเดินทางออกท่องเที่ยวในต่างประเทศกันเป็นจำนวนมาก เฉพาะในไทยคาดว่ามีนักท่องเที่ยวจีนกว่า 3 แสนคน และสิ่งที่ตามมาคือ การใช้จ่ายโดยเฉพาะผ่านแอพพลิเคชั่น Alipay ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการหลายประเทศที่คนจีนไปถึง

ข้อดีของ Alipay คือ ทำให้คนจีนรู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่จะใช้จ่าย เพราะเมื่อสแกนแล้ว ระบบจะจ่ายเป็นเงินหยวน (คนจีนรู้เลยว่าจ่ายไปกี่หยวน) ส่วนคนขายได้รับเงินเป็นสกุลของประเทศนั้นๆ ในประเทศไทยเอง เชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพ ก็เป็นเป้าหมายหลักของคนจีนเช่นเดียวกัน

และนี่คือข้อมูลที่บอกว่า มีการทำธุรกรรมผ่าน Alipay เติบโตขึ้นแบบมหาศาล เฉพาะช่วงเวลา Golden Week มีการทำธุรกรรมในร้านค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น 8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเอเชีย ครองแชมป์ 10 จุดหมายปลายทางที่มีการทำธุรกรรมสูงสุด

  • ฮ่องกง ครองอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเก๊า มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
  • ในสิงคโปร์ ยอดธุรกรรมเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า ส่วนในประเทศไทย ยอดธุรกรรมเพิ่มขึ้น 6 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
  • ในญี่ปุ่น ยอดธุรกรรมเพิ่มขึ้น 16 เท่าจากปีที่แล้ว ขณะที่ในฮ่องกงและไต้หวัน ยอดธุรกรรมเพิ่มขึ้น 13 เท่า เมื่อเทียบกับตัวเลขของปี 2559
  • ในออสเตรเลีย ยอดธุรกรรมเพิ่มขึ้น 20 เท่า ขณะที่ในนิวซีแลนด์ ยอดธุรกรรมเพิ่มขึ้น 6 เท่า

สำหรับยอดใช้จ่ายต่อคนโดยรวมเพิ่มขึ้น 50% เป็น 1,301 หยวน โดยยอดใช้จ่ายต่อคนในประเทศนอกภูมิภาคเอเชียสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ซึ่งผู้ใช้มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยผ่านอาลีเพย์ 3,150 หยวน

  • สวิตเซอร์แลนด์มียอดค่าใช้จ่ายต่อคนสูงสุด (36,298 หยวน (US$5,506)) เมื่อเทียบกับประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปถึง 10 เท่า
  • สหรัฐฯ และแคนาดา (1,648 หยวน) และออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (1,415 หยวน) ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (1,301 หยวน) เช่นกัน
  • ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย (1,519 หยวน) และสิงคโปร์ (1,376 หยวน) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (1,301 หยวน) ขณะที่มาเลเซีย (940 หยวน) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยประเภทของร้านค้าที่ใช้บริการมีความหลากหลายอย่างมาก ตั้งแต่ร้านค้าปลอดภาษีไปจนถึงร้านสะดวกซื้อและร้านกาแฟ
  • ครอบคลุมการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า ตั๋วเครื่องบิน ห้องพักโรงแรม ร้านอาหาร และตั๋วเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว
  • ยอดใช้จ่ายต่อคนในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 3.4 เท่าจากปีที่แล้ว ส่วนในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าจากปีที่แล้ว ผู้ใช้ใช้จ่ายผ่านอาลีเพย์เพิ่มขึ้นอย่างมากในภูมิภาคนี้
  • ผู้ใช้ที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 คิดเป็นสัดส่วน 84% ของผู้ใช้ทั้งหมด
  • ผู้ใช้ได้ใช้อี-คูปองกว่า 1.2 ล้านใบในอาลีเพย์
  • กว่า 200,000 คูปองจากประเทศที่กล่าวถึงข้างต้น (ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย) ถูกนำไปใช้กว่า 60% ในช่วง Golden Week

สรุป

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศที่มีคนจีนมาเที่ยวเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ประมาณ 8 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และมีการใช้งาน Alipay อยู่พอสมควรในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่, ภูเก็ต ดังนั้น  ตัวเลขการเติบโตของไทยอาจจะไม่สูงนัก แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ และการใช้งาน Alipay มีในทุกรูปแบบ ทั้งที่พัก ร้านค้าปลอดภาษี หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ และ ร้านกาแฟ ดังนั้นร้านไหนที่มีเป้าหมายเป็นลูกค้าคนจีน การรองรับระบบ Alipay คือโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ

*หมายเหตุ: การเปรียบเทียบทั้งหมดเป็นแบบปีต่อปี (Year-on-Year) โดยเทียบกับช่วงวันหยุด Golden Week ตามปกติ 7 วันของปีที่แล้ว นอกเสียจากว่าจะระบุเป็นอย่างอื่น ตัวเลขการใช้จ่ายอ้างถึงธุรกรรมในร้านค้าอย่างเฉพาะเจาะจง นอกเสียจากว่าจะระบุเป็นอย่างอื่น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา