‘ALICE’ อินไทยแลนด์ ยากจนไม่พอให้รัฐสนใจ แต่รายจ่ายรวมหนี้ทะลุรายได้ 100%

คุณรู้จัก ‘ALICE’ ไหม? ALICE ในที่นี้ไม่ใช่เด็กสาวผมบลอนด์ที่เผลอหลุดเข้าไปในดินแดนวันเดอร์แลนด์ แต่มันหมายถึงกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า ‘ความยากจน’ ที่รัฐกำหนด แต่ก็ไม่ได้เยอะพอที่จะมีคุณภาพชีวิตดีๆ ได้

ALICE

‘ALICE’ หรือที่ย่อมาจาก ‘Asset Limited, Income Constrained, Employed’ คือคำศัพท์ที่นิยามโดย ‘United Way’ องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อนวัตกรรม งานวิจัย และการดำเนินงานปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ในสหรัฐอเมริกา

ตามสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แล้ว ครัวเรือนที่เข้าข่าย ALICE คือ

  • มีสมาชิก 1 คน และมีรายได้ราวๆ 540,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน; หรือ
  • มีสมาชิก 4 คน และมีรายได้ราวๆ 1.1 ล้านบาทต่อปีต่อครัวเรือน
  • โดยตัวเลขรายได้จะเปลี่ยนไปตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น

แม้คนกลุ่มนี้จะมีรายรับสูงกว่ามาตรฐานความยากจนประเทศ แต่ด้วยความที่มันไม่ได้เยอะขนาดนั้น พวกเขาจึงต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน เนื่องจากไม่มีสิทธิ์ในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา มันคงไปเบียดเบียนค่าใช้จ่ายส่วนอื่นของพวกเขา

ปัจจุบัน กลุ่ม ALICE มีเกือบ 40 ล้านครัวเรือนหรือนับเป็น 29% ของประชากรในสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในอนาคต 

นอกจากนี้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของพวกเขาถูกใช้ไปกับสินค้าอุปโภคบริโภค ดังนั้น เมื่อราคาข้าวของเหล่านี้สูงขึ้น กลุ่ม ALICE ก็จะยิ่งเปราะบาง เพราะค่าแรงที่ได้อาจโตไม่ทันค่าใช้จ่าย ในขณะที่การลงทุนและการออมก็น้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สุดท้าย พวกเขาก็ต้องหันไปพึ่งบัตรเครดิต โดยในปี 2023 อัตราการผิดชำระหนี้บัตรเครดิตในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.1% และหนี้บัตรเครดิตก็พุ่งขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ประเทศไทยก็มี ALICE

Thailand

สำหรับประเทศไทย กลุ่ม ALICE คือครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท และเมื่อรวมภาระหนี้สินกับค่าใช้รายเดือนแล้ว จะมียอดสูงกว่ารายได้

จากการวิเคราะห์ของ ‘ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์’ (SCB EIC) ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 50,000 บาท จะมีภาระค่าใช้จ่ายรวมมากกว่ารายได้ 

ในทางกลับกัน ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนเกิน 50,000 บาท อาจพอมีเงินเก็บเหลืออยู่บ้างหลังนำรายรับไปหักรายจ่ายทั้งหมด

ที่สำคัญ ทาง SCB EIC และ สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่า กลุ่ม ALICE นับเป็น 72.8% ของครัวเรือนไทยทั่วประเทศ ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนยากจนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาทมีอยู่ราวๆ 14.7% เท่านั้น

ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือคนจนผ่าน ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ โดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 ต่อปี ถึงจะได้รับเงินช่วยเหลือ เช่น 

  • วงเงินซื้อสินค้า 300 บาทต่อคนต่อเดือน 
  • วงเงินซื้อก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน 
  • วงเงินค่าเดินทางขนส่งสาธารณะ 750 บาท ต่อคนต่อเดือน

และแน่นอนว่า กลุ่ม ALICE ไม่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการที่กล่าวไปนี้

แม้ราคาข้าวของจะสูงขึ้นสวนทางกับค่าแรง ALICE ยังเชื่อว่าจะปรับตัวได้

Thai Baht Coin
ภาพจาก Shutterstock

SCB EIC ได้จัดผลสำรวจรวม 568 ตัวอย่างจากประชาชนที่ไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีรายได้ในครัวเรือนไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน แล้วพบว่า 36% ของกลุ่มตัวอย่างมีสมาชิกในครอบครัวเกิน 3 คน และ 43% บอกว่ามีสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีรายได้ แสดงให้เห็นถึง อัตราส่วนการพึ่งพิงที่ค่อนข้างสูงในคนกลุ่มนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เกิน 50% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่า ที่ผ่านมา มีรายได้ลดลงหรือเท่าเดิม ในขณะที่ค่าใช้จ่ายแพงขึ้นตลอด แต่พวกเขาก็ยังหวังว่าจะสามารถปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ โดยตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้ง

กลุ่ม ALICE มักเลือกซื้อสินค้าจากร้านขนาดเล็กหรือช่องทางที่ขายในราคาย่อมเยา โดยแหล่งซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันของกลุ่มตัวอย่างเรียงตามความนิยมคือ

  1. ร้านสะดวกซื้อ เนื่องจาก เข้าถึงง่ายและสินค้าที่วางจำหน่ายก็มีขนาดเล็ก ส่งผลให้มีราคาถูก แต่เมื่อเทียบกับปริมาณแล้ว ราคายังแพงกว่าขนาดปกติหรือขนาดใหญ่
  2. ตลาดสด เพราะมีสินค้าหลากหลายและถูกกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต
  3. ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นร้านค้าที่เหมาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

สำหรับสินค้าประเภทอื่นๆ กลุ่ม ALICE ส่วนใหญ่จะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นมาร์เก็ตเพลส หรือร้านค้าในโซเชียลมีเดีย ซึ่งป็นแหล่งที่หาซื้อของได้หลากหลาย อีกทั้งผู้บริโภคยังสามารถเทียบราคาได้ แถมมักจะเจอโปรโมชันอยู่บ่อยๆ เนื่องจากร้านค้าต้องการดึงดูดกลุ่มคนที่อ่อนไหวต่อราคาอย่าง ALICE เป็นต้น

ในด้านการปรับตัวของ ALICE ก็อย่างที่กล่าวไปกว่าเมื่อค่าครองชีพแพงขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกแทน ดังนั้น พฤติกรรมการซื้อข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันก็อาจเหมือนเดิม แต่พวกสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้า หรือ เครื่องสำอาง อาจได้ยอดขายจากคนกลุ่มนี้น้อยลง

นอกจากนี้ ในยามที่ราคาสินค้าแพงขึ้น ร้านที่จัดโปรโมชันบ่อยๆ ก็จะเป็นกลายเป็นแหล่งช็อปปิงในฝันของกลุ่ม ALICE หรือพวกเขาอาจมองหาตัวเลือกสินค้าอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายเดิมเพียงแค่ถูกกว่าแทน เช่น ซื้อแชมพูแบรนด์เดิมแต่ในขนาดเล็กลง เพราะราคาต่อชิ้นถูกกว่า

สุดท้ายแล้ว เนื่องจากประเทศเรามีกลุ่ม ALICE อยู่เป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกที่มีพวกเขาเป็นลูกค้าหลัก ก็ควรระวังในการเพิ่มราคาสินค้า รวมถึงนำเสนอทางเลือกสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของแบรนด์ ราคา โปรโมชัน หรือขนาด เพื่อกระตุ้นยอดซื้อจาก ALICE และลดความเสี่ยงที่ยอดขายอาจน้อยลงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจด้วย

แหล่งอ้างอิง: SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา