ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ถาโถมเข้าสู่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าประโยชน์และความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีมอบให้นั้น มาพร้อมกับความท้าทาย และความเสี่ยงที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ภัยไซเบอร์ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง
จากข้อมูลสถิติการแจ้งความออนไลน์ที่น่าตกใจ ซึ่งรวบรวมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2568 พบว่ามีคดีออนไลน์สะสมสูงถึง 858,508 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 89,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยความเสียหายมากถึง 78 ล้านบาทต่อวัน ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่ได้แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลากหลายรูปแบบ
จุดนี้เอง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ได้แสดงบทบาท และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการรวมพลังเครือข่ายความปลอดภัย ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
หน่วยงานรัฐกับหน้าที่สำคัญในการป้องกัน
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการรับมือกับภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อประชาชน และได้ดำเนินงานเชิงรุกภายใต้ปฏิบัติการ Seal Stop Safe ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านนโยบาย การปฏิบัติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการสำคัญ เช่น การซีลชายแดนเพื่อตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การแก้ไขกฎหมายควบคุมบัญชีม้า และซิมม้า
รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กสทช., ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กระทรวงดิจิทัลฯ, ธนาคารพาณิชย์, บริษัทโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ทั้งยกระดับนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์สู่ระดับชาติ และการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย ซึ่งถือเป็นภารกิจร่วมของคนไทยทุกคน
ขณะเดียวกัน พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายทั้งในด้านข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล สถิติการแจ้งความออนไลน์ล่าสุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2568 พบว่ามีคดีออนไลน์สูงถึง 887,315 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 89,000 หมื่นล้านบาท
หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยความเสียหายถึง 77 ล้านบาทต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันปลอม การดูดเงินจากบัญชี หรือการขโมยข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขในทุกมิติอย่างเร่งด่วน บช.สอท. จึงดำเนินการเชิงรุกทั้งในด้านการป้องกัน ปราบปราม และพัฒนาโครงสร้างการทำงาน เช่นการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเปิดปฏิบัติการเชิงรุก
พร้อมทั้งนำเทคโนโลยี AI และระบบวิเคราะห์ธุรกรรมมาใช้ในการติดตามเส้นทางการเงินของกลุ่มอาชญากร นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง AIS ในการเชื่อมโยงการทำงาน และขยายผลสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่าการยกระดับความร่วมมือสู่ ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน
AIS อาสาผนึกรัฐ-เอกชน ช่วยเหลือ
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของ AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ใช้งานสู่โลกออนไลน์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์และทักษะออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจ Cyber Wellness for THAIs เพื่อส่งเสริมการใช้งานที่ปลอดภัย ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐ การควบคุมระดับเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่ชายแดน การปฏิบัติการร่วมกับตำรวจในการปราบปรามมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์
รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมความปลอดภัยไซเบอร์ อาทิ บริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และบริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับประชาชนผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ และการสร้างตัวชี้วัดสุขภาวะด้านดิจิทัล แต่การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพราะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน ดังนั้น “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ครั้งนี้จึงเป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ภายใต้โมเดล 3 ประสาน ประกอบด้วย
- เรียนรู้ (Educate): สร้างความเข้าใจและทักษะในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับเครือข่ายในทุกภาคส่วน (Ecosystem) เพื่อยับยั้งปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
- ร่วมแรง (Collaborate): ผนึกกำลังกับพันธมิตรทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมสื่อสารและสร้างแรงขับเคลื่อนสังคม
- เร่งมือ (Motivate): รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกฎระเบียบ หรือกติกา เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยโมเดลความร่วมมือ “3 ประสาน” นี้ AIS มีเป้าหมายที่จะเชิญชวนหน่วยงานกว่า 100 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามาร่วมบูรณาการการทำงาน เพื่อป้องกัน และลดปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมไซเบอร์อย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าหมายสร้างประชากรที่ใช้งานดิจิทัลอย่างชาญฉลาดกว่า 3 ล้านคน เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจใหักับผู้อื่น และสร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพได้อย่างปลอดภัย และยั่งยืน
Brand Inside มองว่า การประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง AIS และหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อน ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างจริงจัง การบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานกำกับดูแล จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการป้องกัน ปราบปราม และลดผลกระทบจากอาชญากรรมไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนโมเดล 3 ประสาน ที่ AIS นำเสนอ ถือเป็นแนวทางที่ครอบคลุม และให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ การทำงานร่วมกัน และการผลักดันมาตรการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืน การเชิญชวนหน่วยงานกว่า 100 องค์กรเข้าร่วม แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งและครอบคลุมทุกภาคส่วน เพราะการเดินหน้าโครงการนี้ไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยการร่วมมือกันทุกภาคส่วน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา