ส่องกลยุทธ์ AIS-True ในศึก 5G ที่ไม่ได้แข่งแค่ความเร็ว แต่ต้องมาพร้อมบริการเสริมทุกด้าน

นับตั้งแต่เริ่มให้บริการ 5G เมื่อต้นปี 2020 ทุกค่ายมือถือต่างเปิดเกมรุกทางการตลาดเพื่อชิงลูกค้า แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะทุกค่ายต่างพยายามพัฒนาบริการเสริมทุกด้านเพื่อจูงใจลูกค้า โดยเฉพาะ AIS และ True ที่มีเป้าลูกค้า 5G จำนวน 2 ล้านรายสิ้นปีนี้เหมือนกัน

ais true

AIS กับเป้าหมาย 5G 2 ล้านราย

เริ่มต้นที่ AIS กันก่อน เพราะสิ้นไตรมาส 2 มีผู้ใช้บริการกว่า 43 ล้านเลขหมาย และมีผู้ใช้งาน 5G ราว 1 ล้านเลขหมาย แม้จะกินสัดส่วนค่อนข้างน้อย แต่ด้วยปัจจัยทั้งเรื่องโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G ยังมีราคาสูง ทำให้การจูงใจให้ลูกค้าขยับขึ้นมาใช้ 5G ค่อนข้างท้าทาย ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ด้วย

และจากเป้าลูกค้า 5G จำนวน 2 ล้านรายในปีนี้ที่ AIS ตั้งไว้ จะให้บริษัทรอแค่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือออกเครื่อง 5G ราคาประหยัดคงไม่ได้ เบื้องต้น AIS จึงทำแพ็กเกจ 5G ที่ให้ปริมาณดาต้าสูงกว่าแพ็กเกจอื่น ๆ ทำให้ลูกค้ายินดีจ่าย และเปลี่ยนมาใช้ 5G มากขึ้น

ที่สำคัญยังพยายามสร้างบริการเสริมต่าง ๆ ผนวกกับสิทธิประโยชน์อย่าง Serenade ที่แข็งแกร่ง เพื่อจูงใจลูกค้าอีกทาง โดย AIS เลือกเดินหมากทั้งฝั่งบริการ Streaming, E-Commerce และภาคธุรกิจ นอกจากการมีสิทธิประโยชน์อย่าง Serenade คอยจูงใจทั้งฝั่งลูกค้าปัจจุบัน และผู้ใช้งานเครือข่ายอื่น

ais

เจาะไปที่กลยุทธ์ต่าง ๆ ของ AIS ในการจูงใจ

การพยายามส่งบริการเสริมต่าง ๆ เข้ามาของ AIS เบื้องต้นมาจากการทำตลาดได้ไม่เต็มที่เพราะโรค COVID-19 ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายของผู้บริโภคอาจไม่ดีนัก และหากเจาะไปที่แต่ละบริการโดยเริ่มที่ Streaming จะพบว่า AIS มีการทำเนื้อหาพิเศษบน AIS Play เช่นการแข่งขันโอลิมปิก, Disney+ และล่าสุดอย่างศึกฟุตบอลไทยลีก

ส่วนฝั่ง E-Commerce ทาง AIS มีการร่วมมือกับธุรกิจต่าง ๆ ในการเปิด V Avenue หรือร้านค้าออนไลน์ที่ให้บรรยากาศเหมือนกับไปห้างจริง ๆ มีทั้งสินค้าของกลุ่ม The Mall, TV Direct และล่าสุดคือ RS Mall ที่มาเปิดร้าน โดยลูกค้าของ AIS จะได้สิทธิพิเศษในการจับจ่ายในร้านค้าออนไลน์นี้ด้วย

ด้านลูกค้าธุรกิจ AIS มีการร่วมมือกับ Microsoft เพื่อยกระดับความเร็วของ 5G ด้วยซอฟต์แวร์ที่ช่วยเหลือธุรกิจในหลากหลายแง่มุม รวมถึงจับมือกับ Google ในการให้ลูกค้าใช้ Google One ที่ให้พื้นที่ Google อีก 100 GB นาน 6 เดือน เมื่อรวมทั้งหมดนี้ถือเป็นการจูงใจให้ใช้งาน และขยับไปใช้งาน 5G ด้วยแพ็กเกจที่พร้อมนำเสนอ

True กับเป้าหมาย 2 ล้านรายเช่นกัน

ถัดมาที่กลุ่ม True ที่สิ้นไตรมาส 2 มีผู้ใช้งาน 31.7 ล้าน มีผู้ใช้งาน 5G ทั้งหมด 1 ล้านรายเช่นเดียวกับ AIS และมีเป้าหมายปลายปีมีผู้ใช้งาน 5G เพิ่มเป็น 2 ล้านรายเช่นกัน แต่ด้วยปัจจัยที่คล้ายกัน กล่าวคือ โทรศัพท์มือถือ 5G ยังมีราคาค่อนข้างสูง หรือไม่มีรุ่นที่ราคาต่ำกว่า 6,000 บาทนัก ทำให้การจูงใจลูกค้ามาใช้งานค่อนข้างท้าทาย

ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น แจ้งว่า บริษัทพยายามทำตลาดโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G ให้มีราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น เพื่อจูงใจลูกค้าให้ใช้งาน 5G เช่น การรับเครื่อง 5G ฟรี หรือการได้ส่วนลดพิเศษ เมื่อชำระ และสมัครแพ็กเกจรายเดือนตามที่กำหนด

แต่เพื่อยกระดับการทำตลาดให้เข้มข้นขึ้น True อาศัยความครอบคลุมของบริการ และบริการ Streaming ที่ค่อนข้างแข็งแรงอย่าง TrueID รวมถึงการเชื่อมต่อกับธุรกิจต่าง ๆ ในเครือ เช่นค้าปลีก และบริการออนไลน์ต่าง ๆ ในการจูงใจลูกค้าให้ใช้งาน 5G ได้ตามเป้าหมาย

ทำงาน, เกม และขายออนไลน์ กระตุ้นยอด

ด้วย True ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และใช้จุดแข็งนี้ในการจูงใจให้ลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าเครือข่ายอื่น ๆ มาใช้งาน แต่แค่นั้นอาจไม่พอ ทำให้ True พยายามดึงแง่มุมอื่น ๆ มาประยุกต์ เช่นการยกระดับการทำงานด้วย 5G ผ่านแพ็คเกจพิเศษ

หรือการนำ True 5G Cloud Gaming มาจูงใจคนรุ่นใหม่ให้หันมาใช้งาน 5G ผ่านภาพรวมตลาดเกมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขายออนไลน์ และการนำแพ็กเกจพิเศษเพื่อให้องค์กรต่าง ๆ ใช้งาน 5G ในเชิงอุตสาหกรรม ต่อยอการเติบโตในโลกธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม True ได้รายงานว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจ และการอยู่บ้านมากขึ้นของผู้บริโภค ทำให้แพ็กเกจกลุ่มจำกัดความเร็ว แต่ดาต้าไม่จำกัด ได้รับความนิยม เพราะราคาค่อนข้างถูก และใช้งานทั้งฝั่งความบันเทิง และการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

สรุป

แค่ความเร็วของ 5G คงจูงใจผู้บริโภคไม่ได้ เพราะบริการเสริมต่าง ๆ ที่ทำให้ 5G มีประสิทธิภาพมากขึ้นคืออีกตัวแปรสำคัญ จึงไม่แปลกที่ AIS และ True พยายามสร้างบริการเสริมต่าง ๆ ที่นำ 5G มาต่อยอด และคงต้องรอว่า dtac จะงัดกลยุทธ์ใดมาสู้ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ 5G มากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา