[บทวิเคราะห์] ดีล! เมื่อ AIS – TOT โรมมิ่งสัญญาณคลื่น 2100MHz สำเร็จพร้อมใช้งานแล้ว

เกือบเป็นมหากาพย์อีกเรื่องหนึ่ง คือ ข้อตกลงการใช้บริการข้ามโครงข่าย หรือ โรมมิ่ง ระหว่าง AIS และ TOT บนคลื่นความถี่ 2100MHz (หรือ 1900 เดิมของ TOT ที่คนรุ่นเดิมจะรู้จักในชื่อ ไทยโมบาย) หลังจากที่ AIS ประกาศยืนยันตั้งแต่ต้นปีที่แล้วว่า ความร่วมมือกับ TOT จะมาเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการของ AIS

สรุปแล้ว ลูกค้า AIS เริ่มใช้คลื่น 2100 TOT ได้

กระทั่งวันนี้ AIS ประกาศแล้วว่า ดีลนี้ได้ข้อสรุปแล้ว โดย AIS จะใช้เวลาในการอัพเกรดให้ ซิมการ์ดของผู้ใช้ มองเห็นและสามารถเข้าใช้โครงข่ายใหม่บนคลื่น 2100MHz ของ TOT ได้อัตโนมัติ (ชื่อ Network: TOT3G) โดยจากนี้เป็นต้นไปจะทยอยใช้งานได้เรื่อยๆ ส่วนลูกค้าของ TOT ก็ยังคงใช้งานได้ตามเดิมเช่นกัน เพราะเป็นการโรมมิ่งสัญญาณ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้ครอบคลุมมากขึ้น

ดังนั้น ผู้ใช้บริการ AIS จะได้รับ Speed Data และ Capacity ที่เพิ่มขึ้นในบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 ขนาด 15MHz โดยไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ระบบจะเลือกให้อัตโนมัติ เมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของโครงข่าย

AIS บอกอีกว่า ภายใน 6 เดือนจากนี้ จะสามารถใช้ได้งานทั่วประเทศ ถือเป็นข้อดีกับผู้ใช้บริการทั้ง AIS และ TOT โดยสัญญาใช้บริการโรมมิ่งครั้งนี้ จะหมดพร้อมกับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 2100MHz ของ TOT คือปี 2568 (ขณะที่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 2100 ของ AIS รวมถึง dtac และ True จะหมดอายุในปี 2570)

“วิน-วิน” AIS ได้คลื่น TOT มีรายได้

ถ้าดีลนี้สำเร็จจริงตามที่ AIS ประกาศออกมา ก็ต้องบอกว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เพราะ AIS ต้องการคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับบริการลูกค้า 41 ล้านรายในปัจจุบัน จากปัจจุบันที่มี คลื่น 900, 1800 และ 2100 อยู่ ให้บริการทั้ง 2G, 3G และ 4G หากมีคลื่นความถี่ 2100 ของ TOT มาเพิ่ม (ในส่วนของ 3G) จะทำให้คลื่น 2100 ของ AIS ขยับไปให้บริการ 4G ได้เต็มที่มากขึ้น

และด้วยสัญญายาวจนจบตามอายุใบอนุญาตของ TOT (ปี 68) AIS ก็ไม่ต้องกังวล สามารถให้บริการได้แบบสบายๆ ผู้ใช้งานเองก็ได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

ขณะที่ TOT ได้ประโยชน์ไม่น้อยเช่นกัน เพราะ คลื่น 2100 นี้เดิมใช้ประโยชน์ไม่คุ้มอยู่แล้ว เพราะจำนวนผู้ใช้บริการจากการให้บริการ MVNO มีรวมกันไม่ถึงล้านราย เท่ากับว่าโครงข่ายและคลื่นที่มีอยู่ถูกใช้งานน้อยมาก การที่ให้ AIS ใช้งานโรมมิ่ง จะสร้างรายได้มากขึ้น ลดการขาดทุนของ TOT ได้ส่วนหนึ่ง

คาดรายได้ TOT 325 ล้านบาท ต่อเดือน

ก่อนหน้านี้ TOT เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 ว่า ได้ลงนามสัญญาทดสอบระบบการใช้บริการข้ามโครงข่าย หรือ โรมมิ่ง เชิงพาณิชย์ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บนคลื่นความถี่ 2100MHz กับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในเครือ AIS เป็นเวลา 6 เดือน โดย AIS จะข่ายค่าโรมมิ่งให้ TOT มูลค่า 325 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดเงื่อนไขในสัญญา

ส่วน AIS เช่าใช้โครงข่าย 2G เดิมจาก TOT เป็นมูลค่า 485 ล้านบาทต่อเดือน โดยใช้ร่วมกับคลื่นความถี่ 900MHz ที่ Jazz Mobile ไม่จ่ายค่าประมูล และเป็น AIS ที่ชนะการประมูลรอบสองมาได้มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท

สรุป

ดีลครั้งนี้ถ้าสำเร็จตามที่ AIS ประกาศออกมาจริง จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้ง AIS, TOT และผู้ใช้บริการ ด้าน AIS ได้เสริมแกร่งคลื่นความถี่ไว้แข่งขันในตลาด ถ้า AIS ปลดล็อคเรื่องคลื่นได้ บวกกับการเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Life Service Provider รับรองว่ามีอะไรสนุกรออีกเพียบ ด้าน TOT จริงอยู่ว่าการให้บริการเองน่าจะสร้างรายได้มากกว่านี้ แต่หลังจากลองมาหลายครั้ง TOT เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องรู้ว่าไม่สามารถแข่งขันในตลาดให้บริการทั่วไปได้ การเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายจึงเป็นหนึ่งในทางออกที่ดีที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา